ส.ป.ก. หาช่องทางส่งเสริมเกษตรกร ภายใต้โครงการพลิกวิกฤต COVID-19 สู่การสร้างเศรษฐกิจจาก OTOP สมุนไพรในชุมชนอย่างยั่งยืน เบื้องหารือกับกรมการแพทย์แผนไทยฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยขยายสู่ตลาดสากล เล็งเป้า10 จังหวัดที่มีความพร้อม หวังพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน
วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564 ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวระหว่างการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ห้องประชุม 112 ชั้น 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า เมื่อวันพุธที่ 7 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ส.ป.ก. ได้ร่วมกันหารือกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกถึงแนวทางการดำเนินงาน โครงการพลิกวิกฤต COVID-19 สู่การสร้างเศรษฐกิจจาก OTOP สมุนไพรในชุมชนอย่างยั่งยืน
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข
เป้าหมายที่จะร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยการส่งเสริมพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร เพื่อสร้างความรู้ในการปลูกสมุนไพรให้มีคุณภาพมาตรฐาน และส่งเสริมการแปรรูปสมุนไพร รวมถึงส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการที่มีสินค้าจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรขยายสู่ตลาดสากล โดยใช้ภูมิปัญญา องค์ความรู้ ทรัพยากรท้องถิ่น นวัตกรรม เทคโนโลยี ในการบริหารจัดการขององค์กรชุมชนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการ 10 จังหวัด ได้แก่ 1.เชียงราย 2.ฉะเชิงเทรา 3.ชลบุรี 4.อุทัยธานี 5.อุตรดิตถ์ 6.นครราชสีมา 7.ปราจีนบุรี 8.นครพนม 9.ชุมพร และ 10.พัทลุง
กิจกรรมในการดำเนินงานที่สำคัญ คือ 1. การให้ความรู้แก่เกษตรกรในการปลูก แปรรูป การเก็บเกี่ยว เพื่อให้การผลิตสมุนไพรมีคุณภาพมาตรฐาน,2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์สมุนไพร จากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่นวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สมุนไพร คาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรในชุมชนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50 รายการ, 3. การส่งเสริมการตลาดสมุนไพร โดยการจัดงาน OTOP สมุนไพรไทย และการจัดกิจกรรม Business Matching เพื่อสร้างและขยายโอกาสทางการค้าให้แก่เกษตรกรได้นำเสนอสินค้าสมุนไพรแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม,4. การส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรคและสร้างเสริมสุขภาพในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ในชุมชน, และ5. การสร้างความเข้มแข็ง และบูรณาการในการบริหารจัดการด้านนโยบายการขับเคลื่อนงานสมุนไพรไทยอย่างยั่งยืนของรัฐบาล
ทั้งนี้คาดว่าจะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้จากการผลิตสมุนไพร ให้แก่เกษตรกร แรงงานคืนถิ่น และผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ราย รวมถึงเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
ในชุมชนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 27 ล้านบาท
“ตามแผนนั้นให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมมือกันขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินโดยการส่งเสริมการพัฒนาการผลิต การแปรรูป และการตลาดสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการปฏิบัติงานร่วมกันในลำดับถัดไป หากโครงการฯนี้ประสบความสำเร็จ จะมีการขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นคง แข็งแรง ให้แก่เกษตรกรในเขต ส.ป.ก. ต่อไป” เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าว