ก.เกษตรฯ มอบแล้ว!! โฉนดต้นยางพารา เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน

  •  
  •  
  •  
  •  

ก.เกษตรฯ เดย์! เปิดโครงการ ‘รวมใจภักดิ์ หลอมรักษ์ สืบสานการพัฒนาที่ยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติฯ’ พร้อมมอบโฉนดต้นยางพารา เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน อีกทั้งการใช้นวัตกรรมยางพารา เพื่อลดต้นทุน-เพิ่มรายได้ชาวสวนยาง

นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) ได้รับมอบหมายจาก ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นประธานเปิดโครงการรวมใจภักดิ์ หลอมรักษ์ สืบสานการพัฒนาที่ยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบฯ        ณ ศูนย์วิจัยยางหนองคายและสำนักงานตลาดกลางยางพารา จังหวัดหนองคาย สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชาในด้าน ‘สวนยางอารยเกษตร’ โดยการจัดการสวนยางแบบเกษตรผสมผสานสู่ความยั่งยืน พร้อมชูนวัตกรรมยางลดต้นทุน-เพิ่มรายได้ชาวสวนยาง ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

“กระทรวงเกษตรฯ ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาด้านเกษตรมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาภาคการเกษตร และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรที่ดีขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง และอีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือการมอบโฉนดต้นยางพารา เพื่อเป็นหลักประกันสินเชื่อแก่เกษตรกรสวนยางให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและต่อยอดอาชีพเกษตรกรได้มากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ภายใต้การขับเคลื่อนภารกิจโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) จะเดินหน้าศึกษาแนวทางการพัฒนาและขยายโอกาสการค้าภาคการเกษตร เพื่อพี่น้องเกษตรกรจะมีการเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป” นายเอกภาพ กล่าว

ด้าน ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า สำหรับโฉนดต้นยางพาราเปรียบเหมือนเอกสารสิทธิ์ความเป็นเจ้าของต้นยางต้นนั้น ซึ่งสามารถนำไปเป็นหลักประกันสินเชื่อ เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพและเพิ่มรายได้จากการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ รวมถึงได้สิทธิ์ในการรับความช่วยเหลือจากมาตรการของภาครัฐอีกด้วย

ด้าน นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท.มีแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจตามแนวคิด “สวนยางอารยเกษตร” คือการประกอบอาชีพทำสวนยางแบบผสมผสานสมดุลใน 3 ส่วน ได้แก่ “สืบสาน” ในสิ่งดี, “รักษา” ในสิ่งเดิม และ “ต่อยอด” สู่สิ่งใหม่ ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพันธุ์ยางใหม่ RRIT 3904 ซึ่งเป็นพันธุ์ยางที่คิดค้นและพัฒนาโดยสถาบันวิจัยยาง กยท. นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมยางพาราที่จะช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการสวนยาง และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าจากยางพาราเหลือใช้ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ หุ่นยนต์กรีดยางพารา เครื่องกลั่นน้ำมันไบโอดีเซลจากยางพารา (ระบบไพโรไลซิส) เป็นต้น

ในโอกาสนี้ โฆษกเกษตรฯ (ฝ่ายการเมือง) และคณะผู้บริหารได้มอบต้นพันธุ์ยางชำถุง พันธุ์ RRIT 3904 จำนวน 904 ต้น พร้อมทั้งมอบโฉนดต้นยางพาราให้กับเกษตรกร จำนวน 20 ราย รวมถึงมอบโฉนดเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรกร จำนวน 30 ราย เพื่อสร้างโอกาสการเข้าแหล่งทุนทางการเกษตรเพิ่มขึ้นต่อไป