คาดเอลนีโญอาจกลับมาอีกปลายปีนี้ เตือนชาวสวนกล้วยไม้ เตรียมรับมือช่วงแล้ง-น้ำเค็มรุก

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมเกษตร เตือนชาวสวนกล้วยไม้ เตรียมรับมือช่วงแล้ง เฝ้าระวังน้ำเค็มรุก คาดการณ์เอลนีโญอาจกลับมาปลายปีนี้ ก่อให้เกิด “ฝนทิ้งช่วง และความแห้งแล้ง” จำเป็นต้องวางแผนเรื่องการใช้น้ำเป็นอย่างดี

นายพีรพันธ์  คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่จะแปรปรวนมาก ในปี 2568 โดยคาดการณ์เอลนีโญอาจกลับมาปลายปีนี้ ก่อให้เกิด “ฝนทิ้งช่วง และความแห้งแล้ง” จำเป็นต้องวางแผนเรื่องการใช้น้ำเป็นอย่างดี เตรียมกักเก็บน้ำฝน โดยเฉพาะกล้วยไม้เป็นพืชที่มักจะประสบภัยวิกฤตแล้งและน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้น้ำเค็มรุกเข้าสวนกล้วยไม้บ่อยครั้ง

พีรพันธ์  คอทอง

จากการคาดการณ์ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนที่ขึ้นสูงสุดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งอาจจะเกิดน้ำเค็มรุกพื้นที่ได้ จึงควรเฝ้าระวัง ค่าน้ำเค็มไม่ควรเกินกว่า 0.75 กรัมต่อลิตร หรือค่าการนำไฟฟ้า (EC) สูงเกินกว่า 750 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร ซึ่งหากสวนกล้วยไม้ได้รับน้ำเค็มเป็นเวลานานจะส่งผลให้ปลายรากกุด เนื่องจากค่าโซเดียมในน้ำสูงจนทำลายหมวกราก ใบเริ่มลู่ลง นิ่ม และเหลืองก่อนที่จะหลุดล่วง อีกทั้งยังส่งผลกระทบกับต้นกล้วยไม้ทำให้เนื้อเยื่อแห้ง ไม่เจริญเติบโต และอาจรุนแรงถึงขั้นตายได้ในที่สุด

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ให้คำแนะเพิ่มเติมว่า เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ ควรเตรียมพร้อมรับมือ โดยใช้เครื่องวัด EC หรือ Salinity ตรวจวัดค่าการนำไฟฟ้าของน้ำที่จะใช้รดกล้วยไม้หรือนำมาผสมปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยตัวเอง หรือติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มได้ที่http://hydrology.rid.go.th/sediment-wq/index.php/th/ เพื่อเตรียมการรับมือ หากแหล่งน้ำยังมีคุณภาพดีและมีค่าความเค็มไม่เกินกำหนดข้างต้น

ดังนั้นให้เกษตรกรสูบน้ำเข้ามาเก็บกักสำรองในบ่อพักให้เต็ม ควรเพิ่มพื้นที่ในการเก็บกักน้ำ เช่น ขุดบ่อเพิ่ม หรือ เพิ่มความลึกของบ่อเดิม ให้สามารถเก็บกักได้มากขึ้น และรักษาระดับน้ำในบ่อพักน้ำในสวนกล้วยไม้ให้สูงกว่าระดับน้ำข้างนอก เพื่อดันไม่ให้น้ำจากข้างนอก  ซึ่งอาจจะเป็นน้ำเค็มไหลซึมเข้าบ่อกรณี น้ำในบ่อพักมีค่าความเค็มสูงขึ้นสามารถเจือจางได้ โดยเติมน้ำจืดประมาณ 2 เท่าของน้ำเค็มนอกจากนี้ ควรหมั่นตรวจสอบระบบสปริงเกอร์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอและปรับเปลี่ยนหัวสปริงเกอร์เป็นแบบประหยัดน้ำคือ มีอัตราการใช้น้ำ 100 – 120 ลิตร ต่อ 1 หัว ในเวลา 1 ชั่วโมง

สำหรับกรณีที่น้ำมีค่าความเค็มสูงขึ้น ควรลดอัตราการผสมปุ๋ยลงจากเดิม เนื่องจากปุ๋ยเป็นเกลือชนิดหนึ่งซึ่งจะเพิ่มความเค็มของน้ำได้ หากค่าความเค็มสูงเกินไป ปุ๋ยจะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่รากหรือต้นกล้วยไม้ หากจะบำรุงควรเพิ่มปุ๋ยที่มีธาตุอาหารรองประเภทแคลเซียมและแม็กนีเซียม ซึ่งลดความเป็นพิษของเกลือโซเดียมและคลอไรด์ที่มาจากน้ำทะเลได้ในระดับหนึ่ง และปรับค่ากรดด่างให้อยู่ในช่วง pH 5.5 – 6.5 จะทำให้เกลือไบคาร์บอเนตในน้ำลดลง ทำให้ธาตุอาหารต่าง ๆ ละลายออกมาเป็นประโยชน์กับกล้วยไม้มากขึ้น ทั้งนี้ เกษตรกรที่ผลิตกล้วยไม้ราคาสูงและต้องการคุณภาพ อาจจะพิจารณาใช้เครื่องกรองน้ำแบบ Reverse Osmosis ซึ่งสามารถกรองเกลือที่ละลายในน้ำอย่างได้ผลมากขึ้น
………..