อย่างมองข้าม!! “มันจาวมะพร้าว” ทำเป็นแป้งฟลาวแทนแป้งสาลีได้ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทำเป็นสินค้าพรีเนียมแบรนด์ชุมชน

  •  
  •  
  •  
  •  
กรมวิชาการเกษตร ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันจาวมะพร้าวทำเป็นแป้งฟลาวสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เผยอุดมไปด้วยแคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม วิตามินซี และมีกรดโฟลิกสูงมาก สามารถใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนแป้งสาลีได้ ตั้งเป้าบุกตลาดพรีเมียมภายใต้แบรนด์สินค้าชุมชน
     นางสาวศุภมาศ  กลิ่นขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เกษตร กองวิจัยพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวฯ  ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชัยภูมิ และหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ได้จัดฝึกอบรมการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันจาวมะพร้าวสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอำเภอหนองบัวระเหว และผู้สนใจ ในจังหวัดชัยภูมิ โดยได้รับเกียรติจาก นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานในพิธีการอบรม
ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาคุณภาพการผลิตและความหลากหลายในผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป โครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรท้องถิ่น ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีการแปรรูปและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ พร้อมผลักดันสินค้าแปรรูปให้สามารถแข่งขันในตลาดระดับพรีเมียมภายใต้ตราสินค้าชุมชน
 
มันจาวมะพร้าวเป็นพืชที่อุดมไปด้วยแคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม วิตามินซี และมีกรดโฟลิกสูงมาก รวมทั้งยังเป็นพืชที่ไม่มีกลูเตน มีปริมาณแป้งต้านทานการย่อยสูง และมีค่าดัชนีน้ำตาลที่ต่ำ  ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ กองวิจัยพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวฯ จึงได้นำมันจาวมะพร้าวหัวที่ตกเกรด หัวที่มีขนาดใหญ่มาก และหัวที่เสียหายจากการเก็บเกี่ยวจะขายในราคาที่ต่ำ
ด้วยการมาแปรรูปเป็นแป้งฟลาวมันจาวมะพร้าวพร้อมใช้ และนำแป้งที่ได้ไปพัฒนาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแป้งฟลาวมันจาวมะพร้าว โดยสามารถใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนแป้งสาลีได้ เช่น คุกกี้เนย เค้กชิฟฟ่อนใบเตย บราวนี่ โดนัทจิ๋ว ตูเล่  ชีสเค้กหน้าไหม้ อาหารเสริมสุขภาพ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้มันจาวมะพร้าว และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกทางเลือกหนึ่ง
     นางสาวศุภมาศ กล่าวอีกว่า จากงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันจาวมะพร้าวสามารถนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจและแข่งขันในตลาดได้  โดยจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน พัฒนาต่อยอดเป็นสินค้า OTOP ดังนั้นเพื่อเป็นการขยายผลเทคโนโลยี กวป.จึงจัดการฝึกอบรมโดยดำเนินงานภายใต้  โครงการพัฒนาคุณภาพการผลิตและความหลากหลายในผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป
การอบรมในครั้งนี้มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 60 คน ซึ่งเป็นเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ต้องการต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์มันจาวมะพร้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยการฝึกอบรมจะมีการสาธิตและฝึกปฏิบัติการผลิตแป้งฟลาวจากมันจาวมะพร้าว ผลิตผลิตภัณฑ์เส้นจากแป้งฟลาวมันจาวมะพร้าว และผลิตผลิตภัณฑ์เบเกอรีจากแป้งฟลาวมันจาวมะพร้าว  ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร ให้มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และเป็นการต่อยอดผลผลิตเกษตรสู่สินค้ามูลค่าสูงในอนาคตอีกด้วย
ผู้ที่สนใจนำไปต่อยอดทำเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้  สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร โทรศัพท์ 0 2940 7322