กรมส่งเสริมการเกษตร สรุปพื้นที่การเกาตรได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมล่าสุดรวมเกือบ 4 ล้านไร่ ใน 36 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบราว 3 แสนคน ขนาข้าวอ่วมมากสุดถึง 2,440,059 ไร่ ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 7 จังหวัดที่ต้องชดเชยตามระเบียบผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 อย่างเร่งด่วน
วันที่ 30 กันยายน 2564 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ให้กำลังใจประชาชน และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี พร้อมรับฟังรายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ จาก นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
นายเข้มแข็ง กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เกษตรทั่วประเทศในขณะนี้ มีจังหวัดที่ได้รับได้รับผลกระทบแล้ว จำนวน 3,939,515 ไร่ ใน 36 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย ตาก น่าน แพร่ พะเยา พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน สุโขทัย อุทัยธานี นครสวรรค์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ปราจีนบุรี ระยอง ชัยนาท ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ราชบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี
ในจำนวนพื้นที่การที่ประสบน้ำท่วมในครั้งนี้ แบ่งเป็น ข้าวมากที่จำนวนถึง 2,440,059 ไร่ ตามด้วยพืชไร่และพืชผัก จำนวน 1,481,026 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ จำนวน 18,430 ไร่ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 298,890 ราย
ทั้งนี้ มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร สุโขทัย ชัยภูมิ และจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้กำชับให้เร่งเจ้าหน้าที่เร่งให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 เป็นการเร่งด่วนแล้ว
สำหรับเงินช่วยเหลือที่เกษตรกรจะได้รับ คือ ครัวเรือน ละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท
นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรมีโครงการผลิตพืชพันธุ์ดีเพื่อสำรองในกรณีช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย และใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งพร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยเน้นการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น หรือพืชเศรษฐกิจ ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ พร้อมเตรียมสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อไตรโคเดอร์ม่า ให้เกษตรกรไว้ใช้ฟื้นฟูพื้นที่เกษตรภายหลังน้ำลดอีกด้วย