สทนช. ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วนกรณีเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว เตรียมรวบรวมความเห็นของไทย เสนอ MRC

  •  
  •  
  •  
  •  

 

สทนช. ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เปิดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว เป็นครั้งที่ 3 สะท้อน
ข้อห่วงกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ป้องกันผลกระทบข้ามพรมแดนต่อจังหวัดริมแม่น้ำโขง เตรียมรวบรวมจัดทำความเห็นของไทยอย่างเป็นทางการ เสนอต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 

วันนี้ (21 ม.ค. 68) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว ครั้งที่ 3 โดยมี ว่าที่ร้อยตรีกรกฎ ประเสริฐวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับ และนายสีวันนะกอน ทะลิวัน รองเลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พร้อมด้วย หน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ เข้าร่วม ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของ สทนช.

                                                                                ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล

ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMCS) ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานภายใต้กรอบความร่วมมือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC-IS) ให้ดำเนินการจัดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว จำนวน 4 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม 2567 – เดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยมีผู้แทนสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และที่ปรึกษาระดับประเทศ เป็นผู้ให้ข้อมูล เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งข้อคิดเห็นและข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบสะสมในการก่อสร้างเขื่อนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยการจัดเวทีในครั้งนี้ ณ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 และครั้งสุดท้าย จะจัดขึ้นที่จังหวัดบึงกาฬ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568

สำหรับ 2 เวทีที่ผ่านมา ประชาชนมีข้อห่วงกังวลในหลายประเด็น ทั้งด้านอุทกวิทยา เช่น การเกิดอุทกภัยฉับพลัน ความมั่นคงของโครงสร้างของเขื่อน การขึ้นลงของน้ำที่ผิดปกติไม่ถูกต้องตามฤดูกาล การกัดเซาะและการพังทะลายของตลิ่ง ด้านการประมงและระบบนิเวศ เช่น ความสมบูรณ์ของทั้งชนิดและพันธุ์ปลาจะลดลงส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของปลาแม่น้ำโขง พื้นที่ชุ่มน้ำ/บุ่งทามลดลง ต้นไคร้-สาหร่ายไกตาย ด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การสูญเสียรายได้จากอาชีพประมงและเกษตรริมฝั่ง การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

 

เลขาธิการ สทนช. กล่าวอีกว่า การจัดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคามมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเวทีที่ประชาชนสามารถซักถามและแสดงความเห็นเกี่ยวกับโครงการได้ในทุกมิติ ทั้งนี้ ความวิตกกังวลต่อผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงเป็นที่รับรู้กันทั่วไป ตั้งแต่ระดับนานาชาติจนถึงระดับชุมชนในพื้นที่ สิ่งที่ สทนช. ดำเนินการมาโดยตลอดในเรื่องโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม คือ การทำให้มีผลการศึกษาอย่างเป็นทางการให้ได้ว่า โครงการดังกล่าว มีแนวโน้มว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างต่อประเทศไทย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และภาคประชาชน ได้ช่วยกันพิจารณาให้ความเห็นต่อโครงการ และ สทนช. จะนำไปจัดทำความเห็นของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และแจ้งประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 หรือ MRC 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และไทย โดยแจ้งเป็นเอกสารตอบกลับ หรือที่เรียกว่า Reply Form ตามขั้นตอนที่ได้ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก

การดำเนินงานในแม่น้ำโขง เป็นการดำเนินงานระหว่างประเทศสมาชิก MRC 4 ประเทศ เพื่อให้ความร่วมมือในด้านต่างประเทศมีความเรียบร้อย ประเทศสมาชิกได้มีการตกลงกันว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไรในเรื่องต่างๆ เป็นหลักการไว้แล้ว ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน และกระบวนการปฏิบัติต่างๆ โดยแต่ละประเทศมีหน้าที่ที่จะดำเนินการตามข้อตกลงนั้น สำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม เป็นโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขง ประเทศสมาชิกมีข้อตกลงกันว่า ก่อนจะก่อสร้าง ต้องนำรายละเอียดมาหารือกันก่อน เพื่อให้แต่ละประเทศให้ความเห็นต่อโครงการ และในการให้ความเห็นนั้น จะต้องส่งความเห็นผ่านแบบตอบกลับ ตามกระบวนการหารือล่วงหน้า หรือ PC : Prior Consultation ซึ่งเป็นตัวย่อยจากกระบวนการใหญ่ที่เรียกว่า PNPCA โดย สปป.ลาว ได้เสนอโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม ผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 เพื่อเข้าสู่กระบวนการ PNPCA โดยโครงการเริ่มกระบวนการ PNPCA เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ซึ่งยังอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด 19

 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มกระบวนการหารือ ประเทศไทยยืนยันมาโดยตลอดว่า เราจำเป็นต้องทราบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย ซึ่งข้อมูลที่เราได้รับในขณะนั้น ยังไม่มีในส่วนนี้ การเจรจากับ สปป.ลาว และ MRCS จึงมีการดำเนินการมาโดยตลอด แม้กระทั่งปลายปี 2564 เราก็ยังไม่ได้รับข้อมูล ในช่วงนั้น สทนช. ได้จัดจัดเวทีสาธารณะล้อมวงคนริมโขง 1 ครั้ง ที่จังหวัดเลย เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ หลังจากเวทีปี 2564 คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว และ MRCS ก็ทำงานในเรื่องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมต่อมา จนถึงวันนี้ เราได้รับข้อมูลในเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทยในด้านต่างๆ ครบทั้ง 3 ส่วนแล้ว ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือ ด้านอุทกวิทยา/ชลศาสตร์ ตะกอน ความปลอดภัยของเขื่อน ส่วนที่ 2 คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและการประมง และส่วนที่ 3 คือ ด้านเศรษฐกิจและสังคม

“คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย มีความกังวลเรื่องผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยอย่างมาก ได้กำชับให้ สทนช. ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน และสรุปรวบรวมความเห็นอย่างรอบคอบ ทั้งความเห็นจากประชาชน หน่วยงาน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยให้ยึดประโยชน์ประเทศเป็นสำคัญและคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ซึ่งเวทีรับฟังความเห็นกรณีเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว ครั้งที่ 4 ครั้งสุดท้าย จะจัดขึ้นที่จังหวัดบึงกาฬ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อรวบรวมจัดทำความเห็นของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เสนอต่อรัฐบาลผ่านคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยและเสนอต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พิจารณาต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว