กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าพัฒนาแปลงใหญ่ไม้ผลให้เป็น สู่แปลงต้นแบบไม้ผลครบวงจร นำร่องแล้ว 4 แปลง ใน 4 ชนิดสินค้า “ทุเรียน-มังคุด ลำไย-มะม่วง” ตามแนวทาง BCG model พร้อมขยายแปลงเครือข่ายอีก 17 แปลง
นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาแปลงไม้ผลคุณภาพดีผ่านระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตและบริหารจัดการร่วมกัน ตลอดจนการจัดการด้านการตลาด เพื่อการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคีที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวก
วีรศักดิ์ บุญเชิญ
ในระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา มีแปลงใหญ่ไม้ผลที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,270 แปลง 40 ชนิดสินค้า จำนวนเกษตรกร 60,394 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 72 จังหวัด จากการจัดลำดับแปลงใหญ่ไม้ผลที่เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการมากที่สุด 10 ลำดับแรกตั้งแต่ปี 2559 – 2567 พบว่า ทุเรียนเป็นชนิดสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ส่วนสินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นลำดับที่ 2 – 10 ได้แก่ ลำไย มังคุด มะม่วง ส้มโอ กล้วยหอม ลองกอง มะขามหวาน อะโวคาโด และส้มเขียวหวาน ตามลำดับ
จากฐานข้อมูลจำนวนแปลงใหญ่ไม้ผลที่เคยผ่านการเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ปี 2559 – 2563 พบว่า ลำไยเป็นชนิดสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการสมัครเข้าร่วมโครงการ รองลงมา คือ มะม่วง ทุเรียน มังคุด และกล้วยหอม ตามลำดับ นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังมีนโยบายพัฒนาสินค้าในพื้นที่ให้สอดรับกับ BCG Model ประกอบกับได้มีโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (2566 – 2570) ซึ่งต้องการมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตไม้ผลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านเรื่องราวที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว ครอบคลุมสินค้าไม้ผลมากกว่า 50 ชนิด
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นที่มาของแนวคิดการพัฒนาแปลงใหญ่ไม้ผล ให้เป็นแปลงต้นแบบครบวงจร ตอบโจทย์ได้ใน 3 มิติการพัฒนา คือ แปลงใหญ่ยกระดับด้วยเกษตรสมัยใหม่ฯ BCG Model และโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรไปสู่สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรในระดับพื้นที่ (ตำบล) สามารถวิเคราะห์ศักยภาพและโอกาส วางแผนการผลิต ตลอดจนเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตของเกษตรกร
ทั้งนี้เพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรและบริการ เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากของประเทศอย่างแท้จริง กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตรจึงได้จัดทำโครงการสร้างแปลงต้นแบบครบวงจร ปี 2567 เพื่อสร้างต้นแบบการพัฒนาไม้ผลครบวงจร และเกิดการทำงานเป็นเครือข่ายไม้ผลในพื้นที่
สำหรับผลการดำเนินงานพัฒนาแปลงใหญ่ไม้ผลให้เป็นแปลงต้นแบบครบวงจร มีการพัฒนาแปลงต้นแบบไม้ผลครบวงจรจำนวน 4 แปลง ใน 4 ชนิดสินค้า ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย และมะม่วง ตามแนวทาง BCG model และมีแปลงเครือข่ายจำนวน 17 แปลง ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำความรู้จากแปลงต้นแบบไปประยุกต์ใช้ในแปลงของตนเองได้ตามความเหมาะสม ดังนี้
1) แปลงต้นแบบทุเรียน : แปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 14 ตำบลนายายอาม อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ถ่ายทอดองค์ความรู้หลักสูตร “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ใน 2 กิจกรรม ได้แก่ การสาธิตวิธีและฝึกปฏิบัติในการทำน้ำหมักคุณภาพสูง แคลเซียมโบรอน และปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองไว้ใช้เอง พร้อมทั้งแนะนำอัตราการใช้และประโยชน์ที่ได้รับ และการศึกษาดูงานเทคโนโลยีการห่อผลด้วยถุงห่อ Magik Growth และการใช้สารชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มาร่วมกับสารสกัดเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีในการควบคุมและรักษาโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน
2) แปลงต้นแบบลำไย : แปลงใหญ่ลำไย หมู่ 4 ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ถ่ายทอดองค์ความรู้หลักสูตร “การลดต้นทุนการผลิตลำไย” ใน 2 กิจกรรม ได้แก่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การผลิตลำไยคุณภาพร่วมกัน และการสาธิตวิธีในการผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่ย่อยสลายโดยจุลินทรีย์แบซิลลัสและเชื้อราไตรโคเดอร์มา โดยใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรภายในแปลงให้เกิดประโยชน์ตามแนวทาง BCG model และได้มอบหัวเชื้อจุลินทรีย์ให้กับแปลงเครือข่ายเพื่อนำไปขยายผล
3) แปลงต้นแบบมังคุด : แปลงใหญ่มังคุด หมู่ 1, 2 และหมู่ 4 ตำบลเหมาะ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ถ่ายทอดองค์ความรู้หลักสูตร “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการสร้างมูลค่าเพิ่มมังคุด” ใน 3 กิจกรรม ได้แก่ การศึกษาดูงานการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมังคุดโดยระบบการให้น้ำใต้ทรงพุ่ม ซึ่งสามารถเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ (%RH) และรักษาสมดุลความชื้นที่เหมาะสม ช่วยในการติดดอกออกผลเร็วขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพ (ลดอาการเนื้อแก้วยางไหล) และลดการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ การบรรยายให้ความรู้เรื่อง การเก็บเกี่ยวมังคุด การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการจัดชั้นคุณภาพมังคุด และการสาธิตวิธีการแปรรูปมังคุดเป็นไซรัปมังคุดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
และ 4) แปลงต้นแบบมะม่วง : แปลงใหญ่มะม่วง กลุ่มมะม่วงคุณภาพวังน้ำบ่อ หมู่ 13 ตำบลไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ถ่ายทอดองค์ความรู้หลักสูตร “การบริหารจัดการการผลิตมะม่วงให้มีคุณภาพ และการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการแปรรูป” ใน 3 กิจกรรม ได้แก่ การบรรยายให้ความรู้เรื่อง การบริหารจัดการกลุ่ม และการพัฒนาช่องทางการตลาด การสาธิตวิธีการแปรรูปมะม่วงเป็นแยมมะม่วงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และศึกษาดูงานโรงคัดบรรจุมะม่วงที่ได้รับรองมาตรฐาน GMP และการบริหารจัดการผลผลิตมะม่วงให้มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ ระบบน้ำอัจฉริยะที่ควบคุมการให้น้ำตามสภาพแวดล้อมและความต้องการของมะม่วงผ่านแอพพลิเคชัน Mango AI การผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เอง และเทคโนโลยีการห่อผลด้วยถุงห่อกระดาษ 2 ชั้น ช่วยให้มะม่วงผิวสวยเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะตลาดส่งออก ซึ่งถุงห่อสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้หลายครั้ง
ผลที่ได้จากโครงการการสร้างแปลงต้นแบบไม้ผลครบวงจร นอกจากเกษตรกรแปลงต้นแบบและแปลงเครือข่ายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันแล้ว คือ เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายไม้ผลในพื้นที่ นำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพร่วมกัน โดยนำแนวทางหรือความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นการยกระดับภาคการเกษตรของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน