“อัครา” ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ปลาหมอคางดำที่สมุทรสงคราม ชูโครงการ “สิบหยิบหนึ่ง” ปล่อยพันธุ์ปลานักล่า ควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำ เผยล่าสุดผลการดำเนินการปราบปรามและจำกัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำได้แล้ว จำนวน 55,302.55 กิโลกรัม
วันที่ 20 มกราคม 2568 นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์การแพร่ระบาดปลาหมอคางดำและประชุมหารือการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมี นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้แทนเกษตรกร เข้าร่วมประชุม ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
อัครา พรหมเผ่า
นายอัครา กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ถือเป็นวาระแห่งชาติที่กระทรวงเกษตรฯ ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ศึกษาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องเกษตรกรในวิธีการต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการจัดทำโครงการ “สิบหยิบหนึ่ง” คือโครงการการสนับสนุน “ปลานักล่า” ให้แก่เกษตรกรใช้ควบคุมปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
หลังจากปล่อยปลาลงเลี้ยงในบ่อเป็นระยะเวลา 2-3 เดือน เกษตรกรจะส่งคืนปลานักล่าจำนวน 10% (สิบหยิบหนึ่ง) ให้กับสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อนำไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อช่วยควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่ รวมถึงในรูปแบบการส่งเสริมการแปรรูปปลาหมอคางดำในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ น้ำหมัก ปุ๋ย ตลอดจนปลาร้า ซึ่งได้มอบหมายกรมประมงในการเร่งหาจุดรับซื้อที่เหมาะสมในการรับซื้อปลาหมอคางดำเพิ่มเติมอีกด้วย
ทั้งนี้ ผลการขับเคลื่อนภารกิจการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และรักษาความหลากหลายทางระบบนิเวศ ตลอดจนการปกป้องชนิดพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมือง พบว่า
1) มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยวิธีการลงแขก-ลงคลองจับปลาหมอคางดำ ซึ่งสามารถกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำได้ จำนวน 55,302.55 กิโลกรัม และการกำจัดปลาหมอคางดำจากบ่อเลี้ยงด้วยกากชาและส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่นร่วมด้วย
2) มาตรการที่ 2 การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปลากะพงขาว และปลาอีกง สู่แหล่งน้ำธรรมชาติ นับตั้งแต่ที่พบการแพร่ระบาดในพื้นที่ ไปแล้วกว่า 673,500 ตัว
3) มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ อาทิ โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง โครงการสร้างแรงจูงใจในการนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกไปใช้ประโยชน์โดยการหมักปลาร้า พ.ศ. 2567 รวมการนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ ระหว่างเดือน สิงหาคม 2567 – มกราคม 2568 จำนวน 331,282 กิโลกรัม อีกทั้ง ยังได้ดำเนินการตามมาตรการสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจาย ปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชนรวมถึงส่งเสริมการรับรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้แก่กลุ่มเกษตรกรอีกด้วย
ในโอกาสนี้ นายอัครา ได้มอบพันธุ์ปลาผู้ล่าจำนวน 5,000 ตัว ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ “สิบหยิบหนึ่ง” และร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาผู้ล่าที่เกษตรกรคืนมาหลังจากนำไปกำจัดในบ่อเลี้ยงลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ต่อไป