“ประภัตร”คิกออฟ ปลูกหญ้าเนเปียร์เลี้ยงโคขุนแห่งแรกที่ปักธงชัย การันตีราคา กก.ละ50 สตางค์

  •  
  •  
  •  
  •  

“ประภัตร” นำทีมลุยเมืองย่าโม นำทีม Kick Off ส่งเสริมปลูกหญ้าเนเปียร์สำหรับเลี้ยงโคขุน ประเดิมที่ อ.ปักธงชัยเป็นแห่งแรก 500 ไร่ภายใต้โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ เผลการทดลอง 1 ไร่ได้ผลผลิต 10 ตัน เบื้องต้นประกันราคารับซื้อที่ กก.ละ 50 สตังค์ มั่นใจจะสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้กับเกษตรกรชาวภาคอีสาน เป้าขยายต่ออีก 32 อำเภอ

          วันที่ 15 มิถุนายน 2563 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ตรวจราชการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมปศุสัตว์ กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยมี อภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ และนายพศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวรายงาน ตลอดจน นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา และเกษตรกรกว่า 500 คน เข้าร่วม

        ในการนี้ นายประภัตร ได้พบปะเกษตรกร พร้อมทั้งร่วมกันปลูกหญ้าเนเปียร์ และปล่อยน้ำบำบัดลงสู่แปลง จากนั้นชมการสาธิตตัดหญ้าและนิทรรศการต่างๆ ภายในงาน ณ บริษัทเอี่ยมธงชัย อุตสาหกรรม จำกัด ตำบลงิ้ว อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

        นายประภัตร  กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า มีภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากในหลายพื้นที่ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ตามปกติ ผลผลิตได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบด้านราคาเนื่องจากคุณภาพผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่คุ้มต่อการลงทุน และไม่เพียงพอต่อการยังชีพ อีกทั้งยังขาดโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการฟื้นฟูหรือปรับเปลี่ยนอาชีพ

     กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และหาแนวทางที่จะช่วยฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

       สำหรับงานในครั้งนี้ เป็นการ kick off เปิดแปลงปลูกหญ้าเนเปียร์ บนพื้นที่ 500 ไร่ แห่งแรกของโครงการฯ เพื่อผลิตอาหารแบบผสมเสร็จ TMR สำหรับโคขุนให้ได้รับอาหารที่ดี สมบูรณ์ จะทำให้โคมีอัตราเจริญเติบโต 1-1.5 กิโลกรัม โดยเข้ามาส่งเสริมเกษตรกรที่ อ.ปักธงชัย ให้ปลูกหญ้าเนเปียร์โดยใช้น้ำของโรงงานแป้งมันแห่งนี้ซึ่งมีค่าไนโตเจนสูง

      รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ผลจากการทดลองปลูกแล้วพบว่า 1 ไร่ ได้ผลผลิต 10 ตัน พร้อมกันนี้มีประกันราคาซื้อจากเกษตรกรอยู่ที่ กก.ละ 50 สตางค์ รวมทั้ง ธ.ก.ส. พร้อมปล่อยเงินกู้ให้เกษตรกรเพื่อการเตรียมดินปลูกหญ้า โดย 1 ไร่ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 บาท รอบการตัด 60 วัน/ครั้ง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรประสบปัญหาน้ำมีไม่เพียงพอในการเพาะปลูก รวมถึงน้ำไปไม่ถึงแปลง ดังนั้น จึงร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำและกรมบาดาลเข้าช่วยเหลือสนับสนุนต่อท่อ และขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้อย่างทั่วถึง

      ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีของเกษตรกรชาวอีสานที่ประสบภัยแล้ง ได้มีอาชีพเสริมสร้างรายได้ ทั้งการปลูกหญ้าเนเปียร์ และการเลี้ยงโคขุน โดยกรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมการแนะนำ วิธีการ นวัตกรรม แก่เกษตรกร โดยมีตลาดนำการผลิต ตลอดจนจะผลักดันโครงการนี้และขยายผลไปถึงเกษตกรรอีก 32 อำเภออีกด้วย

      ด้าน นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่องฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย โดยสนับสนุนการจัดการตลาดผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ สร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์ จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ

        สำหรับโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมปศุสัตว์ กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จังหวัดนครราชสีมา โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ พืช ประมง และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ตามนโยบายรัฐบาล ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้เกษตรกรที่มีความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 67 ครั้ง เกษตรกร 3,995 ราย และรับรองคุณสมบัติเบื้องต้นของกลุ่มเกษตรกรเพื่อขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. แล้ว จำนวน 50 กลุ่ม เกษตรกร 476 ราย

        ทั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และการค้าส่งค้า -ปลีก ซึ่งมีอัตราสัดส่วนโครงสร้างร้อยละ 22.46, 19.82 และ 14.91 ตามลำดับ ในภาคการเกษตร จังหวัดมีพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสิ้น 8,931,032 ไร่ แบ่งเป็น ปลูกข้าว จำนวน 4,329,724 ไร่ พืชไร่จำพวกข้าวโพด มันสำปะหลัง ปอ ฝ้าย และข้าวฟ่าง จำนวน 3,793,602 ไร่ และปลูกพืชสวน 632,170 ไร่ มีครัวเรือนเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 326,587 ครัวเรือน

       ส่วนพืชเศรษฐกิจ 3 อันดับแรก คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด การเลี้ยงไหม สำหรับภาคปศุสัตว์ จังหวัดนครราชสีมา มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จำนวน 170,100 ราย แบ่งเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ 41,101 ราย 352,239 ตัว โคนมจำนวน 4,041 ราย 137,326 ตัว ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศทั้งสองชนิด (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2563) และมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นเช่น กระบือ สุกร สัตว์ปีก แพะ แกะ เป็นต้น