อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศเดินหน้าส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ประจำถิ่น-เกษตรแปลงใหญ่ เป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติรับรู้เรื่องราวถึงคุณค่า ประโยชน์ และแหล่งที่มาที่ถูกต้องของผลไม้แต่ละชนิด ชู “ทุเรียนสาลิกา” เป็นตัวอย่างของดีเมืองพังงา มีเนื้อเหลืองเข้มละเอียด เมล็ดลีบ รสชาติหวานมัน กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เรียบร้อยแล้ว
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้กล่าวถึงโครงการส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ประจำถิ่นว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากเล็งเห็นว่าไม้ผลหลายชนิด เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง เงาะ ลองกอง ส้มโอ สละ จำปาดะ ล้วนแล้วแต่เป็นผลไม้ประจำท้องถิ่นหรือที่เรียกกันว่า “อัตลักษณ์ผลไม้”
นายเข้มแข็ง ยกตัวอย่าง“ทุเรียนสาลิกา” ของดีเมืองพังงาด้วยมา ทุเรียนสาลิกา หรือที่เรียกกันเป็นภาษาถิ่นว่า “ทุเรียนสากา” มีรสชาติหวานมันและมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งทุเรียนสาลิกาพังงา มีแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่อำเภอกะปง จังหวัดพังงา พื้นที่ประมาณ 320 ไร่ เป็นทุเรียนพื้นบ้านพันธุ์แท้ดั้งเดิม ลักษณะผลกลมสวย ผลโตมีน้ำหนักประมาณ 1.5 – 2 กิโลกรัมต่อผล เปลือกบาง เนื้อสุกเป็นสีเหลืองเข้ม แกนกลางมีสีสนิม เมล็ดเล็กและลีบ รสชาติหวานแหลม เนื้อละเอียด ไม่เละ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีฤดูกาลเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ล่าสุดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีผลไม้อื่น ๆ ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่น ส้มโอทับทิมสยาม มังคุดในวง เงาะ ลองกอง สละ และจำปาดะ เป็นต้น จึงทำให้เหมาะที่จะส่งเสริมและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสู่มาตรฐานการส่งออก ควบคู่ไปกับการพัฒนาการแปรรูป เพื่อทำให้การผลิตไม้ผลของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เกิดการพัฒนาต่อยอดสินค้าไม้ผลได้อย่างครบวงจร
“ขณะนี้เราได้จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้อย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้รับทราบเรื่องราว (Story) คุณค่า คุณประโยชน์ และแหล่งที่มาที่ถูกต้องของผลไม้ จนส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าจากการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ต่อไป เพื่อการบริหารจัดการผ่านกระบวนการเกษตรแปลงใหญ่อย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้าคุณภาพจากสวนที่ได้มาตรฐาน เตรียมพร้อมสู่มาตรฐานการส่งออก ยกระดับเกรดของสินค้าด้วยการรับรองคุณภาพ GAP การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยด้วย” นายเข้มแข็ง กล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงสถานการณืผลไม้ในภาคใต้ด้วยว่า ปีนี้ผลไม้ภาคใต้คาดว่าจะมีผลผลิตตามฤดูกาล จะเป็นทุเรียน 554,486 ตัน มังคุด 144,537 ตัน เงาะ 49,993 ตัน ลองกอง 49,988 ตัน และลำไย (ภาคเหนือ) 386,065 ตัน จึงขอเชิญชวนคนไทยร่วมอุดหนุนผลไม้ไทย “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” พร้อมทั้งสามารถเลือกซื้อสินค้าของเกษตรกรผ่านเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ได้ ซึ่งมีสินค้าเกษตรคุณภาพรวม 9 หมวดหมู่ กว่า 500 ชนิดสินค้าที่คัดสรรจากเกษตรกรโดยตรง ขณะนี้มียอดสั่งซื้อแล้วคิดเป็นมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท