เกษตรกรเดือดหนัก วัชพืชขึ้นพรึบ เตรียมบุกศาลปกครอง ทวงถามคุ้มครองชั่นคราวใช้ “พาราควอต”

  •  
  •  
  •  
  •  

สุกรรณ์ สังขวรรณะ

เครือข่ายเกษตรกร เตรียมบุกศาลปกครองอีกครั้ง ทวงถามความคืบหน้าคำร้องขอให้ศาลปกครองคุ้มครองการใช้ “พาราควอต –คลอร์ไพริฟอส” ชั่วคราวจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ระบุเกษตรกรเดือดร้อนหนัก ฝนตกทั้งหญ้า วัชพืชขึ้นเต็ม ยังไม่สามารถกำจัดได้ คาดทำให้ผลผลิตเสียหายหนัก ประกาศเดินหน้าชนกระทรวงเกษตรฯ สำนักงาน อย.ชี้ถ้าห้ามเกษตรกรไทยใช้พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ต้องห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากประเทศที่ยังใช้อยู่ทุกกรณี

       นายสุกรรณ์ สังขวรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปอลดภัย และนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ในวันที่ 11 มิถุนายน 2563 เวลา 10.00 น.จะมีตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรทุกกลุ่มพืชในนามสมาพันธ์เกษตรปอลดภัย จะเดินทางไปที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯอีกครั้ง เพื่อยื่นหนังสือสอบถามความคืบหน้าในการพิจารณาคำร้องของเกษตรกรที่ยื่นต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในการใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศและกำหนดให้สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 จนกว่าคดีจะสิ้นสุด เนื่องจากเวลาผ่านไปหลายวันแล้ว แต่เรื่องยังไม่คืบหน้าในขณะที่เกษตรกรกำลังเดือนร้อนอย่างหนัก

      “ตอนนี้เกษตรกรเดือดร้อนมาก เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนพวกหญ้า วัชพืชขึ้นเต็มแล้วในแปลงเพาะปลูก ทั้งอ้อยและข้าวโพด ไม่สามารถจำกัดได้ เนื่องเป็นพื้นที่กว้าง และไม่สามารถหาสารตัวอื่นมาแทนได้ เกษตรกรไม่สามารถใช้ไกลโฟเซตได้ เนื่องจากจากจะทำลายทั้งทั้งวัชพืชและพืชที่เพาะปลูก ต่างกับพาราควอตที่จะทำลายเฉพาะพืชสีเขียวเท่านั้น หากเป็นอย่างนี้ผลผลิตเสียหายแน่นอน” นายสุกรรณ์ กล่าว

        เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปอลดภัย กล่าวอีกว่า นอกจากที่จะยื่นหนังสือเพื่อสอบถามความคืบหน้าในการพิจารณาคำร้องของเกษตรกรที่ยื่นต่อศาลปกครองแล้ว จะมีการประชุมแกนนำเครือข่ายเกษตรกร เพื่อหารือกรณีที่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามเกษตรกรไทยใช้ ห้ามครอบครอง ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า แต่ประเทศไทยยังนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังใช้พาราคาวอต และคลอร์ไพริฟอส โดยเฉพาะถั่วเหลืองและข้าวสาลี ฉะนั้นในต่อเมื่อแบนสารทั้งสองชนิดไม่ให้เกษตรกรไทยใช้ จะต้องไม่นำเข้าสิ้นค้าเกษตรจากประเทศที่ใช้อยู่ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยด้วยทั้งสหรัฐอเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศด้วย

         เขา กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ทางนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ไปนั่งประธานประชุมหารือ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…..ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2563 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) ซึ่งมี นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมด้วย ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. และนางสาวมนัญญา บอกว่า ตามที่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ทาง อย. ต้องปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ให้สอดคล้องกับประกาศฯ ดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ต่อไป ฉะนั้น อย.ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์ใดก็ตาม ต้องไม่ผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากภาคการเกษตรที่ม่ใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสอย่างเด็ดขาด

         ”เรื่องนี้เกษตรกรไทยไม่ยอมหรอกครับ ห้ามเกษตรกรไทยใช้ แต่นำเข้าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จากประเทศที่ยังใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส  เรื่องนี้ทางเครือข่ายเกษตรกรจะทำหนังสือถึงกระทรวงเกษตรฯ และอย.ให้ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากประเทศที่ยังใช้พาราควอตอยู่ 83 ประเทศ และใช้คลอร์ไพริฟอส อยู่อีก 86 ประเทศทุกกรณี ไม่ต้องตรวจ ไม่ต้องอ้างว่้าห้องแล็ปฯไม่เพียงพอ ถ้าประเทศไหนใช้เราต้องไม่นำเข้า เพราะถือว่าเลือกปฏิบัติ ซ้ำเติมเกษตรกรไทย แต่เอื้อนายทุนที่นำเข้า เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ครับ” เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปอลดภัย กล่าว