อัญชนา ตราโช
สศก. ปลื้มผลการประเมินโครงการเกษตรผสมผสานในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ 23 จังหวัด เผยปีแรกมีจำนวนสมาชิก 1,500 ราย เกษตรกรได้รับความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีพื้นที่ทำการเกษตรผสมผสานถึง 23,486 ไร่ ที่บรรจุเป้าหมายตามคาดไว้ เชื่อมั่นทั้งสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ฝ่าวิกฤตโควิด ด้วยวิถีเกษตรผสมผสาน เส้นทางสู่ความยั่งยืน ชี้เป้าหมายนระยะต่อไป นอกจากการสนับสนุนแหล่งน้ำ แหล่งเงินทุน และการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการผลิตแล้ว ต้องส่งเสริมให้สามารถหาตลาดรองรับผลผลิตเองได้
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า โครงการเกษตรผสมผสานในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชา ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร โดยมีระยะเวลาโครงการ 4 ปี (ปี 2561 – 2564) ดำเนินการอบรมให้ความรู้ด้านเกษตรผสมผสานแก่เกษตรกร ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับอนุมัติเงินกู้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นา กำหนดเป้าหมายปีละ 100 แห่ง จำนวน 1,500 ราย พื้นที่ 7,500 ไร่ โดยเป้าหมายรวม 4 ปี จะมีเกษตรกร 6,000 ราย เข้าร่วมครอบคลุมพื้นที่ 30,000 ไร่ และสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ เช่น เมล็ดพันธุ์ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และ ปุ๋ย รายละประมาณ 6,000 บาท
นางอัญชนา กล่าวอีกว่า จากการที่ สศก. ได้ประเมินผลโครงการฯ พื้นที่ 23 จังหวัด ที่ได้ดำเนินการเป็นปีแรกในปีงบประมาณ 2561 จำนวนสมาชิก 1,500 ราย พบว่า การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย เกษตรกรได้รับความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีพื้นที่ทำการเกษตรผสมผสาน 23,486 ไร่ เกษตรกรได้รับเงินอุดหนุนเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ ได้นำความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำปุ๋ยหมัก การปรับปรุงบำรุงดิน การทำบัญชีครัวเรือน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การลดต้นทุนการผลิตมาปรับใช้ในการทำการเกษตร รวมทั้งมีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยนำมูลสัตว์มาทำปุ๋ย นำพืชผักและฟางข้าวเป็นอาหารสัตว์น้ำ
ส่วนด้านรายได้ เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต 8,100 บาทต่อไร่ และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการพึ่งพาตนเองได้รวม 2,579 บาท (แบ่งเป็นลดต้นทุนจากการบริโภคผลผลิตของตนเอง 1,104 บาท และลดต้นทุนจากการผลิตปัจจัยการผลิตของตนเอง 1,475 บาท) ซึ่งเกษตรกรถึงร้อยละ 94 มีการพัฒนาแปลงผสมผสานอย่างต่อเนื่อง และร้อยละ 66 ได้ต่อยอดโดยมีการขยายผลการทำเกษตรผสมผสานสู่เกษตรกรรายอื่นต่อไปอีกด้วย
รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และกระทบต่อรายได้เกษตรกร เนื่องจากความไม่สะดวกในการกระจายสินค้า ขายสินค้าได้ในจำนวนไม่มาก แต่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้จากการทำกิจกรรมเกษตรผสมผสาน ลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงอาหาร ด้วยแหล่งอาหารที่ตนเองผลิต นับได้ว่าการทำเกษตรผสมผสานก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกรอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ การดำเนินงานของโครงการฯ ในระยะต่อไป นอกจากการสนับสนุนแหล่งน้ำทางการเกษตร แหล่งเงินทุน และการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการผลิตแล้ว ควรส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพให้สามารถหาตลาดรองรับผลผลิตเองได้ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในการขยายตลาดสินค้า และแนะนำช่องทางการตลาดที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ เช่น ตลาดออนไลน์ เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งในปี 2563 กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดไปสู่โครงการอื่นๆ ได้ต่อไป โดยใช้ศาสตร์พระราชา ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจสังคม สามารถสู้กับวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างดี