โชว์เทคโนโลยีสูตรสำเร็จ เก็บเงาะโรงเรียนได้นาน เปลือกสดเสมอ หวังยอดส่งออกพุ่งขึ้น

  •  
  •  
  •  
  •  

                                            เสริมสุข  สลักเพ็ชร์

กรมวิชาการเกษตร โชว์เทคโนโลยีสูตรสำเร็จ เก็บรักษาเงาะโรงเรียนให้สดเสมอ เก็บได้นาน ระหว่างการข่นส่ง เผยสามารถแก้ปัญหาเปลือก ขนเงาะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และผลเน่าเร็วได้ ด้วยการใช้ชีวภัณฑ์แบคทีเรียคุมโรคเน่าแทนสารเคมี ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทางเลือกใหม่ที่จะนำทางสู่การส่งออกเงาะได้มากขึ้น พร้อมแนะเกษตรกรเก็บเกี่ยวเงาะระยะ 3 สี   ตัดขั้วผลด้วยกรรไกรช่วยลดการทำลายเชื้อราต้นเหตุโรคผลเน่าได้

    นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า เงาะเป็นไม้ผลเศรษฐกิจหลักชนิดหนึ่งของประเทศไทย ในปี 2562 มีปริมาณผลผลิตเงาะรวมทั้งประเทศ 280,166 ตัน แต่ที่ผ่านมาการส่งออกเงาะสดไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศมีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตที่ผลิตได้  โดยพบปัญหาสำคัญคือการเกิดสีน้ำตาลของเปลือกและขนเงาะรวมทั้งการเกิดอาการผลเน่าอย่างรวดเร็ว  มีสาเหตุมาจากภายหลังการเก็บเกี่ยวผลเงาะมีการสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากบริเวณขนเงาะมีปากใบจำนวนมากและที่ปลายขนยังมีขนเล็ก ๆ ทำให้เพิ่มพื้นที่ผิวในการคายน้ำ และภายใต้อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ทั่วไป เปลือกเงาะจะเปลี่ยนแปลงเป็นสีน้ำตาลและเหี่ยวแห้งได้ภายในระยะเวลา 3 – 4 วัน

    ดังนั้นกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร  กรมวิชาการเกษตร  ได้ศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีชะลอปัญหาการเกิดสีน้ำตาลของเปลือกและขนเงาะพันธุ์โรงเรียน  เพื่อแก้ปัญหาให้สามารถส่งออกผลเงาะสดไปยังต่างประเทศได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น   ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่า อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษา  และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการขนส่งและการเก็บรักษาสามารถช่วยควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในระหว่างการขนส่งและการเก็บรักษาให้คงที่และลดการสูญเสียน้ำทำให้ชะลอการเปลี่ยนแปลงสีเปลือกและสีขนของเงาะได้ 

       นอกจากนี้ ผลจากการวิจัยยังพบสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผลิตผลเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วมาจากการเข้าทำลายของเชื้อราที่ก่อให้เกิดอาการผลเน่า จึงจำเป็นต้องใช้สารป้องกันและกำจัดโรคพืชหลังการเก็บเกี่ยว  อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมีนั้นต้องคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ  งานวิจัยนี้จึงได้นำชีวภัณฑ์แบคทีเรียเพื่อควบคุมโรคผลเน่ามาใช้ทดแทนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา   เพื่อเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการยืดอายุการเก็บรักษาเงาะสดให้นานขึ้นและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

                                                                              เงาะสามสี

       นางสาวเสริมสุข กล่าวอีกว่า ผลงานวิจัยนี้ทำให้ได้วิธีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อลดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของเงาะพันธุ์โรงเรียน   โดยพบว่าระยะการเก็บเกี่ยวเงาะที่เหมาะสมคือในระยะสามสีที่เปลือกยังเป็นสีแดงอ่อนและขนเงาะยังเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นระยะที่ทำให้สามารถเก็บผลเงาะได้นานขึ้น  และการตัดขั้วผลเงาะให้ชิดผลด้วยกรรไกรแทนการปลิดด้วยมือ สามารถลดการเข้าทำลายของเชื้อราซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยวได้  รวมทั้งการล้างผลเงาะด้วยน้ำสะอาดและแช่ในชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus amyloliquefaciens  DL9 อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร  นาน 5 นาที สามารถลดการเกิดโรคผลเน่าของเงาะในระหว่างการเก็บรักษาได้และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

        ส่วนการยืดอายุผลเงาะให้มีความสดใหม่ ให้ใช้วิธีบรรจุผลเงาะในถุงพลาสติกชนิด LDPE ความหนา 25 ไมครอน และมีอัตราการซึมผ่านก๊าซออกซิเจน 10,000-12,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร/ตารางเมตร/วัน   จะช่วยลดการคายน้ำของผลเงาะและลดอาการเปลือกสีน้ำตาลของเปลือกและขนเงาะได้ดี  ทำให้สามารถเก็บรักษาผลเงาะให้มีความสดใหม่ได้นานขึ้น   โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาหรือขนส่งเงาะคืออุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95 เปอร์เซ็นต์

          การพัฒนางานวิจัยเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกเงาะสดไปยังประเทศคู่ค้าของไทยถือเป็นเรื่องที่สำคัญ  แม้ไทยจะมีความได้ปรียบในด้านศักยภาพการผลิตเงาะที่มีคุณภาพและเส้นทางการส่งออกที่สะดวกกว่า แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายประเทศที่มีพื้นที่ปลูกเงาะพยายามผลักดันการส่งออกเงาะสดไปจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องพัฒนาด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อยืดอายุการขนส่งและการเก็บรักษาเงาะสดให้ได้นานขึ้น  รวมทั้งยังต้องเป็นวิธีการที่คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของผู้บริโภคด้วย 

            กรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดการสูญเสียระหว่างการขนส่งและการเก็บรักษาเงาะพันธุ์โรงเรียน ให้เกษตรกร  ผู้ประกอบการส่งออก  และผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ประโยชน์และขยายผลต่อไป  โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร  โทรศัพท์ 0-2579-5582 และ 0-2579-6008