แนะ 4 แนวทางพิชิตหนอนกระทู้หอมในพริก

  •  
  •  
  •  
  •  

       กรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนว่า ช่วงกลางวันอากาศร้อนมีแดดแรง กลางคืนอากาศเย็นอุณหภูมิลดต่ำลงอย่างในช่วงนี้ ให้เกษตรกรผู้ปลูกพริกให้เฝ้าระวัง “หนอนกระทู้หอม” ที่สามารถพบได้ในระยะพัฒนาทางลำต้นจนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตพริก มักพบตัวหนอนฟักออกจากไข่กัดกินผิวใบบริเวณส่วนต่างๆ ของพริกเป็นกลุ่ม หากหนอนโตขึ้นจะแยกย้ายไปกัดกินทุกส่วนของพืช เช่น ใบ ดอก และผลพริก กรณีที่หนอนมีปริมาณมากขึ้นจะมีความเสียหายรุนแรง ผลผลิตพริกเสียหาย และคุณภาพผลผลิตไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

    เกษตรกรควรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน คือ วิธีเขตกรรม วิธีกล ชีววิธี และการใช้สารเคมี สำหรับวิธีเขตกรรม ให้เกษตรกรไถตากดินและเก็บเศษซากพืชอาหาร เพื่อฆ่าดักแด้เป็นการลดแหล่งสะสมและขยายพันธุ์ วิธีกล ให้เกษตรกรเก็บกลุ่มไข่และหนอนไปทำลาย จะช่วยลดการระบาดลงได้ ส่วนการใช้ชีววิธี ให้เกษตรกรใช้ในระยะที่ตัวหนอนมีขนาดเล็กและพบการระบาดน้อย โดยให้ใช้สารจุลินทรีย์ เช่น เชื้อไวรัสหนอนกระทู้หอม (นิวคลีโอโพลิฮีโดรไวรัส) อาทิ DOA BIO V1 (กรมวิชาการเกษตร) หรือในช่วงเวลาเย็นให้เกษตรกรพ่นด้วยเชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis subsp. aizawai หรือ Bacillus thuringiensis subsp. kurstaki

      หากพบการระบาดมาก ให้เกษตรกรใช้สารเคมีในการกำจัด โดยใช้สารฆ่าแมลงคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอินดอกซาคาร์บ 15% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารสไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทอกซีฟีโนไซด์ 24% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นซ้ำตามการระบาด และควรพ่นในระยะที่ตัวหนอนมีขนาดเล็ก หลีกเลี่ยง การพ่นสารฆ่าแมลงชนิดเดียวติดต่อกันหลายครั้ง และควรใช้สารฆ่าแมลงสลับกลุ่มกัน เพื่อป้องกันการสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงชนิดนั้นได้