ผู้เชี่ยวชาญปรับมุมใบอ้อยเพื่อเพิ่มชีวมวล

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

นักวิจัยจากศูนย์นวัตกรรมพลังงานชีวภาพและผลิตภัณฑ์ชีวภาพขั้นสูง (Center for Advanced Bioenergy and Bioproducts Innovation – CABBI) แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดา (University of Florida) ได้ทำการปรับแต่งพันธุกรรมของอ้อยซึ่งนำไปสู่ผลผลิตที่ดีขึ้น ผลลัพธ์ของความก้าวหน้านี้ได้ถูกรายงานในวารสารเทคโนโลยีชีวภาพพืช (Plant Biotechnology Journal)

อ้อยเป็นพืชที่ผลิตผลผลิตชีวมวลมากที่สุดของโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 80 ของน้ำตาลทั่วโลก และร้อยละ 40 ของเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตทั่วโลก ขนาดของต้นและประสิทธิภาพการใช้น้ำของอ้อยทำให้อ้อยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพขั้นสูงที่หมุนเวียนได้และมีมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ตาม อ้อยมีจีโนมที่ซับซ้อนซึ่งทำให้นักปรับปรุงพันธุ์ปรับปรุงคุณลักษณะโดยใช้วิธีการเดิม ๆ ได้ยาก

ดังนั้น ทีมวิจัยจึงใช้เครื่องมือแก้ไขยีนเพื่อปรับแต่งจีโนมของอ้อย โดยเฉพาะยีนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมุมของใบ ลักษณะนี้มีความสำคัญเนื่องจากเป็นตัวกำหนดว่าพืชจะสามารถรับแสงได้มากเพียงใด ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิตชีวมวล

การทดสอบภาคสนามของอ้อยแก้ไขยีน พบว่า อ้อยสายต้นหนึ่งมีมุมเอียงใบลดลงร้อยละ 56 ส่งผลให้ผลผลิตชีวมวลแห้งเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 การปรับเปลี่ยนนี้ทำให้ชีวมวลได้รับการปรับปรุง โดยไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มเติม

ครับ ปรับเพียงองศาของมุมใบให้ตั้งมากขึ้นด้วยเครื่องมือแก้ไขยีน ช่วยให้ชีวมวลเพิ่มขึ้น

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://cabbi.bio/fine-tuning-leaf-angle-with-crispr-improves-sugarcane-yield/