ดัดแปลงไมโครไบโอมจากพืชสำเร็จเป็นครั้งแรก เพื่อช่วยปกป้องพืชให้พ้นจากโรคต่าง ๆ

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต 

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน (University of Southampton) ในสหราชอาณาจักร ประสบความสำเร็จในการดัดแปลงไมโครไบโอม (Microbiome หมายถึง ยีนหรือพันธุกรรมของจุลินทรีย์ทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในร่างกาย) ของพืชเป็นครั้งแรก เพื่อให้พืชมีสุขภาพที่ดี โดยเป็นการเพิ่มแบคทีเรียที่ดีในพืช

ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ซึ่งระบุว่า สามารถลดความต้องการและการพึ่งพาสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มักเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้

Microbiomes ในลำไส้ของมนุษย์มีอิทธิพลต่อระบบภูมิคุ้มกันซึ่งจะต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดโรค ส่วน Microbiomes ในพืช เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่มีอยู่ในราก ลำต้น และใบ ส่งผลต่อความอ่อนแอของพืชต่อโรคต่าง ๆ

ทีมวิจัยค้นพบว่า การแสดงออกที่มากเกินไปของยีนเฉพาะ ที่พบในกลุ่มการสังเคราะห์ลิกนิน (lignin biosynthesis cluster) ของต้นข้าว ช่วยเพิ่มแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ใน Microbiomes ของพืช ผลการวิจัยพบว่า พืชที่ได้รับการดัดแปลง Microbiomes มีความทนทานต่อโรคขอบใบแห้ง (bacterial blight) ของข้าวได้ดีกว่า ซึ่งเป็นโรคสาเหตุทั่วไปของการสูญเสียผลผลิตข้าวในประเทศแถบเอเชีย

Dr. Tomislav Cernava ผู้ร่วมเขียนรายงานและรองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน กล่าวว่า “เป็นครั้งแรกที่เราสามารถเปลี่ยนส่วนประกอบของ Microbiomes ของพืชในลักษณะเป้าหมาย และการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่มีประโยชน์ สามารถปกป้องพืชจากแบคทีเรียที่เป็นอันตรายอื่น ๆ ได้” ปัจจุบัน นักวิจัยกำลังสำรวจการมีอยู่ของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ เพื่อปรับปรุงสุขภาพพืชให้ดียิ่งขึ้น

ครับ เป็นความพยายามของนักวิจัย ที่จะช่วยให้พืชมีสุขภาพที่ดี

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.southampton.ac.uk/news/2024/01/plant-microbiome.page