สทนช.ผวา!! สารเคมีปนเปื้อนในน้ำจากเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ เสนอปิดประตูระบายน้ำในคลองใกล้เคียงทั้งหมด

  •  
  •  
  •  
  •  

สทนช.หารือด่วน หาแนวทางและมาตรการเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้
เคมิคอลฯ เบื้องต้นให้กรมชลประทาน ปิดประตูระบายน้ำในคลองใกล้เคียงทั้งหมด เพื่อควบคุมและจำกัดการแพร่กระจายสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำที่เกิดจากฝน และน้ำจากรถดับเพลิงเพื่อลดผลกระทบในวงกว้าง พร้อมให้กรมควบคุมมลพิษติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในลำน้ำสาขาข้างเคียง ต่อเนื่องเป็นระยะ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

      ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเข้าประชุมหารือร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเสนอมาตรการรองรับผลกระทบต่อเนื่อง จากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Video Conference)เมื่อวันที่ 6 ก.ค.64 ว่า จากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ในซอยกิ่งแก้ว 21 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 5 ก.ค. 64 ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง  จึงได้เข้าร่วมประชุมวาระเร่งด่วน เพื่อเป็นการหารือถึงแนวทางและมาตรการเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุดังกล่าว ทั้งด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ สภาพสังคม

     ที่สำคัญคือสภาพแวดล้อมที่หลายฝ่ายเป็นกังวลเกี่ยวกับสารเคมีที่อาจเกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำต่าง ๆ  จึงเสนอประเด็นเพิ่มเติมเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ     โดยจะดำเนินการประสานกรมชลประทานปิดประตูระบายน้ำในคลองใกล้เคียงทั้งหมด เพื่อควบคุมและจำกัดการแพร่กระจายสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำที่เกิดจากฝนและน้ำจากรถดับเพลิงเพื่อลดผลกระทบในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้กรมควบคุมมลพิษติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในลำน้ำสาขาข้างเคียง และติดตามต่อเนื่องเป็นระยะ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน

     “ที่ประชุมได้สรุปมาตรการ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย 1) ระยะเร่งด่วน มุ่งช่วยเหลือประชาชนในด้านสุขภาพ และคุณภาพชีวิต เช่น การตรวจสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งอาสาสมัครที่ลงพื้นที่ รวมถึงการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ และสำรวจความเสียหาย  ความปลอดภัยของสิ่งก่อสร้างที่อยู่อาศัย 2) ระยะกลาง เตรียมความพร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงทบทวนและปรับปรุงระบบปฏิบัติงานตามแผนเผชิญ
เหตุภัยต่าง ๆ และ 3) ระยะยาว การเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการกำหนดเขตพื้นที่ (Zoning) ผังเมืองต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว