“บิ๊กป้อม” ชูนำหลักปรัชญา ศก.พอเพียงบนเวทีระดับโลกถึงจุดยืนของไทยในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนใน 2030 

  •  
  •  
  •  
  •  

บิ๊กป้อม” โชว์วิสัยทัศน์บนเวทีการประชุมระดับโลกกว่า 15 ประเทศ ถึงจุดยืนของประเทศไทยที่มีความพร้อมจะขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำ ภายในปี 2030  เน้นการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ พร้อมทั้งตระหนักถึงเข้าถึงน้ำที่สะอาดถูกสุขอนามัยอย่างพอเพียง ที่เป็นธรรมและทั่วถึงเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านทรัพยากรน้ำในอนาคต 

      ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อที่ 29 มิถุนายน 2564  ได้เห็นชอบให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ในการประชุมเชิงนโยบายระดับรัฐมนตรี Water Dialogues for Results Bonn 2021: Accelerating Cross – Sectoral SDG 6 Implementation ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อหารือเชิงนโยบายในการสนับสนุนให้สมาชิกเร่งรัดการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านทรัพยากรน้ำ ค.ศ. 2030 ซึ่งมี Mr.Svenja Schulze รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู (BMU) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นประธาน โดยมีรัฐมนตรีจาก 15 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ฝรั่งเศส เซเนกัล แอฟริกาใต้ ทาจิกิสถาน จาเมกา สโลวีเนีย ฟินแลนด์ ฟีจี อียิปต์ โปรตุเกส นามิเบีย แองโกลา แคเมอรูน เปรู และประเทศไทย

     สำหรับการกล่าวปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 6 ผู้นำ ที่ได้รับเกียรติดังกล่าว ส่วนอีก 5 ท่าน ที่ได้กล่าวปาฐกาถาพิเศษ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน ประเทศจาไมกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำและสุขาภิบาล ประเทศเซเนกัล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาความร่วมมือ ประเทศสโลวีเนีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือการพัฒนาและการค้าต่างประเทศ ประเทศฟินแลนด์ และประธานสภาเยาวชนโลกเพื่อน้ำ 

    ส่วนการปาฐกถาพิเศษของพลเอก ประวิตรในครั้งนี้ มีสาระสำคัญที่แสดงจุดยืนของประเทศไทยที่มีความพร้อมจะขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำ ภายในปี 2030 โดยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ พร้อมทั้งตระหนักถึงเข้าถึงน้ำที่สะอาดถูกสุขอนามัยอย่างพอเพียง ที่เป็นธรรมและทั่วถึง และให้ความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนภายใต้ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเกิดอุทกภัย การขาดแคลนน้ำ และคุณภาพน้ำ  นอกจากนี้ ยังจะกล่าวถึงการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ว่า เป็นวิกฤต ที่ใช้เป็นโอกาสในการวางแผน เพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนากลไก สร้างความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ และสุขาภิบาล

      นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบร่างสารทางการเมือง From Dialogues to Results – Key messages for Accelerating Cross – Sectoral SDG 6 Implementation โดยมอบหมายให้ สทนช. เป็นผู้ให้การรับรองร่างสารทางการเมืองดังกล่าวในนามประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการเร่งรัดการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำ ภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และจะเป็นหนึ่งในข้อเสนอแนะที่จะนำเสนอต่อที่ประชุม UN Conference on the Mid-term Review of Water Action Decade, 2018 – 2028 ซึ่งจะมีขึ้นใน ปี พ.ศ. 2566 มีเนื้อหาครอบคลุมความร่วมมือในการดำเนินงานของภาครัฐ ผู้ให้บริการ องค์กรพหุภาคี และระบบสหประชาชาติ โดยมีแนวทางเร่งรัดการขับเคลื่อน 5 ด้าน ดังนี้

     1.ด้านเงินทุนปรับปรุงการกำหนดเป้าหมาย และการใช้เงินทุนที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งระดมทรัพยากรในประเทศ และดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมจากแหล่งภาครัฐและเอกชน 2.ด้านข้อมูล ผู้มีอำนาจการตัดสินใจเชิงนโยบาย ต้องใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้ทันเวลาและเชื่อถือได้ เพื่อนำมาวิเคราะห์ วางแผน และดำเนินการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 3.ด้านขีดความสามารถ พัฒนาขีดความสามารถที่จำเป็น โดยถ่ายทอดองค์ความรู้แบบองค์รวมนอกเหนือจากการฝึกอบรม    เพื่อส่งเสริมการตัดสินใจและสร้างความร่วมมือในทุกระดับ 4.ด้านนวัตกรรม นำองค์ความรู้ดั้งเดิมพัฒนาเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและแนวทางที่เป็นนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและประกันการจัดหาน้ำจืดอย่างยั่งยืน และ 5.ด้านธรรมาภิบาล สร้างการธรรมาภิบาลด้านน้ำในทุกระดับ และความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

    สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากร่างสารทางการเมืองดังกล่าว คือ จะได้รับความร่วมมือทวิภาคี และพหุภาคี การสร้างโอกาสในการได้รับการสนับสนุนเเหล่งเงินจากต่างประเทศ รวมถึงการได้รับความร่วมมือทางวิชาการ องค์ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ