กนช.เกาะติดสถานการณ์น้ำ ประเมินพิษจากฝนทิ้งช่วง คาดว่าหลังสิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 มีอ่างเก็บน้ำ 14 แห่ง ที่มีความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยกว่า 15% “กิ่วลม-ทับเสลา”สุดๆ น้ำใช้ได้ 0 % ตามด้วยเขื่อนภูมิพล ใช้ได้อีกเพียง 3% มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 1,384 ตำบลใน 24 จังหวัด ปลายสิงหาคมลามเพิ่มเป็น 34 จังหวัด ขณะที่เขื่อนใหญ่ 8 แห่ง คาดว่าจะมีน้ำมากกว่า 80% และมีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยสูงสุดในเดือนตุลาคมถึง 58 จังหวัด
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมว่า ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปฏิบัติการเตรียมพร้อมรับมือตาม 10 มาตรการรับฤดูฝน ทั้งก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย เพื่อบริหารจัดการน้ำและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีความแตกต่างกันในหลายพื้นที่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
ล่าสุด พบว่าปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำทั่วประเทศมีอยู่ทั้งสิ้น 36,943 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 12,866 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำ 32,344 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 แหล่งน้ำขนาดกลาง ปริมาณน้ำ 2,732 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ50 และแหล่งน้ำขนาดเล็ก มีปริมาณน้ำ 1,868 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ37 ของความจุ
อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้จะเป็นช่วงฤดูฝน แต่มีบางพื้นที่ที่ฝนทิ้งช่วงและมีความเสี่ยงภัยแล้งในฤดูฝนปี 2564 เนื่องจากปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยหรือเท่ากับค่าเฉลี่ย โดยในเดือนกรกฎาคมมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง รวม 1,384 ตำบล 213 อำเภอ 24 จังหวัด และเดือนสิงหาคม จำนวน 1,603 ตำบล 272 อำเภอ 34 จังหวัด
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ปริมาณน้ำที่ใช้การได้หลังสิ้นเดือนกรกฎาคม พบว่า มีอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยกว่า 15% ของน้ำที่ใช้การได้ 14 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธาราฯ เขื่อนภูมิพล เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนกิ่วลม เขื่อนแม่มอก เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนฯ เขืิ่อนทับเสลา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำพุง เขื่อนลำปาว เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนศรีนครินทร์
ขณะที่อ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยงที่มีปริมาณน้ำมากมีเพียงแห่งเดียว คือ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล คาดว่าในเดือนกรกฏาคม จะมีปริมาณน้ำ 102% ของน้ำใช้การได้ และในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝนได้มีการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การได้ พบว่า อ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์น้ำมากกว่า 80% จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ เขื่อนจุฬาภรณ์ 108% เขื่อนอุบลรัตน์ 101% เขื่อนลำตะคอง 91% เขื่อนลำพระเพลิง 109% เขื่อนขุนด่านปราการชล 99% เขื่อนหนองปลาไหล 116% เขื่อนประแสร์ 94% และ เขื่อนแก่งกระจาน 81% และอาจมีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยสูงสุดในเดือนตุลาคมถึง 58 จังหวัด
“รองนายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุมให้หน่วยงานทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน โดยเฉพาะการสื่อสาร ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้และรับทราบ เพื่อจะได้เตรียมตัวได้ทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งสั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมในการป้องกันปัญหาในระหว่างที่ฝนทิ้งช่วงที่จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ และเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน” เลขาธิการ สทนช.กล่าว