“ประวิตร” การันตีภาคตะวันออกมีน้ำมั่นคงพอสำหรับภาคธุรกิจ-อุตฯ-ท่องเที่ยว-เกษตรกรรม

  •  
  •  
  •  
  •  

“ประวิตร” นำคณะลงพื้นที่ภาคตะวันออก การันตีมีน้ำมั่นคง รัฐบาลมีโครงการที่พัฒนาแหล่งน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สนองทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคเกษตรกรรม ให้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ พร้อมเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำฝน สร้างความมั่นใจประชาชน-นักลงทุนด้วย

     วันที่ 14 มิถุนายน 2564) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างนำคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ และความพร้อมรับมือฤดูฝน ปี 2564  ในพื้นที่ภาคตะวันออก ณ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ว่า  การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกและอีอีซี รวมถึงเน้นย้ำความพร้อมในการขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เพื่อให้พื้นที่ภาคตะวันออกมีความมั่นคงเรื่องน้ำ นักลงทุนเกิดความมั่นใจ โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการใน 3 ประเด็นหลักคือ

      1.กระทรวงเกษตรษตรและสหกรณ์และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือและกำหนดแนวทางร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ รวมถึงเร่งดำเนินการเพิ่มน้ำต้นทุนโดยการพัฒนาระบบโครงข่ายน้ำต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว 2.การนิคมอุตสาหกรรมต้องจัดหาแหล่งน้ำสำรองของตนเอง พร้อมทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนใช้น้ำแบบ3R รวมถึงเร่งดำเนินการเพิ่มน้ำต้นทุนโดยจัดทำระบบเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด ซึ่งต้องดำเนินการอย่างประหยัด และคุ้มค่ามากที่สุด และ 3.ขอให้ทุกหน่วยปฏิบัติตาม 10 มาตรการ รับมือฝนปี’64 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก รวมถึงวางแผนเก็บน้ำสำรองทุกแหล่งทั้งผิวดินและใต้ดินไว้รองรับในช่วงฤดูแล้งหน้าด้วย 

     อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกในปีนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าเป็นห่วงนัก แต่ยังต้องเน้นย้ำทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผน พร้อมสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อเตรียมการรับมือและให้การสนับสนุนร่วมไปกับภาครัฐด้วยทั้งมาตรการระยะสั้น และต่อเนื่องในระยะยาวที่รัฐบาลมีแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกทั้งภาคธุรกิจภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคเกษตรกรรม การหาแหล่งน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่นี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งได้มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 – 2580 ทั้งสิ้น 38 โครงการ ใน 9 กลุ่มโครงการหลัก ได้แก่ การก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม  ก่อสร้างโครงข่ายน้ำใหม่ ปรับปรุงโครงข่ายน้ำเดิม ก่อสร้างระบบสูบกลับ ขุดลอก/แก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำ บ่อบาดาลอุตสาหกรรม สระเอกชน และการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 872 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอต่อการรองรับการพัฒนาอีอีซีในอนาคต

       ด้าน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมในภาคตะวันออกว่า แหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งหมด มีปริมาณน้ำทั้งหมด 1,325 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43% ของความจุ ขณะที่การพัฒนาแหล่งน้ำ และโครงข่ายท่อส่งน้ำในภาคตะวันออกในปัจจุบันสามารถเชื่อมโยงแหล่งน้ำต้นทุนผิวดิน อีกทั้งมีการจัดสรรน้ำจากลุ่มน้ำนอกภาคตะวันออกเข้ามาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดย สทนช. ได้กำกับ เร่งรัดการขับเคลื่อนตามแผนงานโครงการไปแล้ว 17 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 6 โครงการ ได้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 111 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 11 โครงการคาดว่าแล้วเสร็จภายในปี 2567 จะได้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 151 ล้าน ลบ.ม.

      นอกจากนี้ได้เสนอให้มีการเร่งรัดโครงการที่สำคัญอีก 12 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาความเหมาะสม การมีส่วนร่วมกับประชาชน และโครงการที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้หน่วยงานปรับแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 จะได้น้ำเพิ่มขึ้น 183 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง อ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา ระบบสูบกลับอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น อีก 9 โครงการ สทนช.จะกำกับให้ดำเนินการตามแผนงานของหน่วยงาน โดยแล้วเสร็จภายในปี 2573 จะได้น้ำเพิ่มขึ้น 426 ล้าน ลบ.ม.