เกษตรกรผู้ที่ได้กระทบจากเขื่อนราษีไศล ในพื้นที่ 3 จังหวัด เตรียมรอเฮ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ มีมติเห็นชอบจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการจ่ายชดเชยแก่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หลังจากรอมานานเกือบ 4 ทศวรรษ
นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายราษีไศล ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้จ่ายค่าชดเชยพื้นที่ที่ได้รับกระทบจากโครงการฝายราษีไศล ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด โดยพิจารณาจาก
1) ผลการพิจารณาเห็นชอบการพิจารณาอุทธรณ์การทำประโยชน์ในลักษณะท้องถิ่นที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่1 กุมภาพันธ์ 2543 ตามหลักเกณฑ์และแนวทางการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล
2) ผลการพิจารณาเห็นชอบการพิจารณาอุทธรณ์การทำประโยชน์ในลักษณะท้องถิ่นถูกต้องตามหลักเกณฑ์มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่1 กุมภาพันธ์ 2543 ประกอบผลการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศลกับคณะทำงานพิจารณาคำร้องคัดค้านประกาศอำเภอ (ระดับอุทธรณ์) ทั้ง 3 จังหวัด เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล
ทั้งนี้ การจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการราษีไศลดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน จะดำเนินการชดเชยจากกรอบงบประมาณเหลือจ่าย ซึ่งจะดำเนินการหลังตรวจสอบพิสูจน์สิทธิการครอบครองและทำประโยชน์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างครบถ้วนแล้วต่อไป
ย้อนที่มาเขื่อนราษีไศล เป็นเขื่อนในกลุ่มโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน เพื่อทำการผันน้ำจาก แม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล มาแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ 4.98 ล้านไร่ในเขตภาคอีสาน โดยใช้งบประมาณกว่า 2.28 แสนล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างกว่า 2 ปี
เขื่อนราษีไศล ก่อสร้างโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2532 ให้ก่อสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำมูลที่บริเวณบ้านห้วย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นฝายยางเก็บน้ำไม่เกินตลิ่ง ตั้งงบประมาณไว้ 140.97 ล้านบาท แต่มีการดำเนินการก่อสร้างจริงในระหว่างปี พ.ศ.2535 ถึง พ.ศ. 2536 และก่อสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก งบประมาณ 871.9 ล้านบาทแทน
ทว่า …หลังเริ่มเก็บน้ำในลำน้ำมูล ทำให้เกิดปัญหาน้ำเข้าท่วมที่ดินทำกินของชาวบ้าน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจึงก่อม็อบประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือครั้งแล้วครั้งเล่า ต่อมาเมื่อปี 2545 มีการโอนภารกิจของกระทรวงพลังงาน มาให้กรมชลประทาน ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน และเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้เปิดเผยว่า จากครม.มีมติ จ่ายค่าชดเชยวงเงิน 599 ล้านบาท ให้เกษตรกรหลังจากได้รับผลกระทบจากก่อสร้างฝายราษีไศล มาเกือบ 40 ปี