กฟก.เร่งจัดทำแนวปฏิบัติ ตามมติบอร์ฯให้ เสนอ ครม. ขอใช้งบกลางหมื่นล้านซื้อหนี้-ฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรให้เร็วที่สุด

  •  
  •  
  •  
  •  

สไกร  พิมพ์บึง

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เดินหน้าจัดทำแนวปฏิบัติ ตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ ที่เห็นชอบให้ กฟก. เสนอ ครม. ขอใช้งบกลาง 10,000 ล้านบาทอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อซื้อหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร หวังแก้ปัญหาหนี้และการฟื้นฟูพัฒนาอาชีพเกษตรกร ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และทันต่อความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร

    นายสไกร  พิมพ์บึง  รองเลขาธิการรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหาร กฟก. และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรได้มีการประชุม เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานที่ติดขัดหลาย ๆ ด้านเช่นการแก้ไขระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 ซึ่งมีนายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 

    การประชุมในครั้งนั้นมีความเห็นชอบนโยบายและระเบียบต่าง ๆ ที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.เห็นชอบเสนอขอใช้งบกลางจำนวน10,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร เพิ่มเติมจากงบของกองทุนฯ ที่จัดสรรไว้แล้วในปี 2564 จำนวน 2,055 ล้านบาท,  2. (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วยการพิจารณาแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร การติดตามและประเมินผลการดำเนินการ การเบิกจ่ายเงิน และการใช้คืนเงินให้แก่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2563  ได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารฯ หรือเลขาธิการ กฟก. มีอำนาจผ่อนผันหรือขยายเวลาการใช้คืนเงินต้นได้หากเป็นกรณีที่เกษตรกรประสบเหตุภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ หรือเหตุสุดวิสัย

     3. เห็นชอบระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโอนทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้และการเช่าซื้อ หรือซื้อทรัพย์สินคืนไปจากกองทุน พ.ศ. 2563โดยมอบหมายให้คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร สามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการเก็บค่าเช่าซื้อ หรือระยะเวลาการเช่าซื้อ ให้แก่เกษตรกรในกรณีที่เกษตรประสบหรือได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือภัยพิบัติอื่น ๆ, 4. เห็นชอบรายชื่อเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เป็นหนี้ NPA (เพิ่มเติม) และอนุมัติซื้อทรัพย์ NPA คืนให้แก่เกษตรกรสมาชิกตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555, 

      5. เห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาการขยายกรอบวงเงินซื้อทรัพย์สินรอการขายทอดตลาด (NPA) และชำระหนี้เสีย (NPL) คงเหลือ จากเดิมไม่เกินรายละ 2.5 ล้านบาท เป็นไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท,6. เห็นชอบ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการหนี้ของเกษตรกร กรณีหนี้บุคคลค้ำประกัน พ.ศ.….

     7. เห็นชอบ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ว่าด้วย การงบประมาณ พ.ศ. ….ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ประธานกรรมการกองทุนฯได้สั่งการให้เร่งแก้ไขข้อจำกัดต่าง ๆ และเร่งดำเนินการวางแผนแก้ไขปัญหาหนี้และการฟื้นฟูทั้งหมดซึ่งที่ผ่านมา ยังคงมีเกษตรกรจำนวนมากที่แม้จะขึ้นทะเบียนกับกองทุนฯแล้ว แต่กองทุนฯก็ยังไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทั้งหมด เนื่องด้วยข้อจำกัดทั้งที่เป็นระเบียบ และงบประมาณ

ขณะนี้ กฟก.โดยคณะกรรมการบริหารฯ และคณะกรรมการจัดการหนี้ฯ ได้ร่วมกันนำมติที่คณะกรรมการเห็นชอบมาจัดทำแนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้และการฟื้นฟูพัฒนาอาชีพเกษตรกรขับเคลื่อนการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟู ฯให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และทันต่อความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรต่อไป