สศท.1 ประเมินสถานการณ์ผลผลิตลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ คาดมีผลผลิตรวม 9.7 แสนตัน เผยปีนี้ ราคาดี ผลผลิตออกมากสุดช่วงเดือนสิงหาคม 1566 นี้ ขณะที่พื้นที่ปลูกลดน้อยลง เกษตรกรหันปลูกพืชอื่นทดแทน ทั้งทุเรียน เงาะ ยางพารา มันสำปะหลังโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกาแฟมากขึ้น
นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์ผลิตลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ และน่าน โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกภาคเหนือ สำรวจและจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ (ข้อมูล ณ 26 มิถุนายน 2566) พบว่า ปี 2566 ลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ มีเนื้อที่จำนวน 1,270,319 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 1,288,757 ไร่ ลดลงร้อยละ 1.43) เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นลำไยที่มีอายุมากออก เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น ทุเรียน เงาะ ยางพารา มันสำปะหลังโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกาแฟ
ธวัชชัย เดชาเชษฐ์
ด้านผลผลิตรวม มีจำนวน 972,330 ตัน (ลำไยในฤดู 641,919 ตัน และลำไยนอกฤดู 330,411 ตัน)ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 1,023,908 ตัน (ลดลงร้อยละ 5.04) เนื่องจากสภาพอากาศร้อนแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตลำไยลดลง ทั้งนี้ ผลผลิตลำไยในฤดูได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน 2566 โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2566
หากพิจารณาสถานการณ์ผลิตลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ พบว่า ลำไยในฤดู มีจำนวน 641,919 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 739,162 ตัน (ลดลงร้อยละ 13.16) เนื่องจากปีที่ผ่านมาต้นลำไยออกผลผลิตมาก ทำให้ในปีนี้ต้นลำไยไม่สมบูรณ์ รวมทั้งสภาพอากาศหนาวเย็นไม่เพียงพอที่จะทำให้ลำไยออกดอกได้ ซึ่งช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงมกราคม 2566 มีอากาศหนาวเย็นช่วงสั้น ๆ สลับกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น การแทงช่อดอกในฤดูจึงลดลง อีกทั้งในช่วงติดผลเล็ก มีฝนทิ้งช่วง อากาศร้อนแล้ง และปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ลำไยสลัดลูกทิ้ง ด้านลำไยนอกฤดู มีจำนวน 330,411 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 284,746 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.04 เนื่องจากราคาลำไยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2565 อยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้ใช้สารกระตุ้นการออกดอกเพื่อผลิตลำไยนอกฤดูมากขึ้น
แฟ้มภาพ
ด้านสถานการณ์ราคาลำไยในฤดูของแหล่งผลิต 8 จังหวัดภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากผลผลิตปีนี้มีปริมาณน้อย และลำไยอบแห้งไม่มีสินค้าค้างสต๊อก ทำให้ผู้ประกอบการมีความต้องการซื้อลำไยเพื่อมาอบแห้ง ซึ่งตลาดจีน มีความต้องการซื้อเพื่อทดแทนสต๊อกลำไยอบแห้งที่เหลือน้อย ส่งผลให้ราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 แบ่งตามเกรด ได้แก่ ลำไยสดช่อ เกรด AA กิโลกรัมละ 38 บาท , เกรด A กิโลกรัมละ 30 บาท , เกรด B กิโลกรัมละ 20 บาท , เกรด C กิโลกรัมละ 10 บาท และเกรด AA+A กิโลกรัมละ 34 บาท ส่วนลำไยรูดร่วง เกรด AA กิโลกรัมละ 29 บาท , เกรด A กิโลกรัมละ 21 บาท , เกรด B กิโลกรัมละ 12 บาท และเกรด C กิโลกรัมละ 4 บาท
สำหรับการบริหารจัดการผลผลิตลำไยในฤดูของแหล่งผลิต 8 จังหวัดภาคเหนือ คณะทำงานฯ ได้ร่วมกันวางแนวทาง การบริหารสมดุล Demand-Supply ของผลผลิตลำไยในฤดู ได้กำหนดแนวทางการกระจายผลผลิต แบ่งเป็น ผลผลิตร้อยละ 72.21 แปรรูปเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งเนื้อสีทอง น้ำลำไยสกัดเข้มข้น และลำไยกระป๋อง ผลผลิตร้อยละ 13.40 กระจายเพื่อบริโภคสดในประเทศผ่านล้ง วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร Modern Trade ตลาดออนไลน์ ธ.ก.ส. ไปรษณีย์ ตลาดค้าผลไม้ในจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำหน่ายผู้บริโภคโดยตรง กิจกรรมประชาสัมพันธ์ผลไม้ และอื่น ๆ และผลผลิตร้อยละ 14.39 ส่งออกลำไยสดไปยังตลาดต่างประเทศ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคสนับสนุนผลผลิตลำไยภาคเหนือ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและเป็นกำลังใจให้พี่น้องเกษตรกรในการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพต่อไป หากท่านใดที่สนใจข้อมูลสถานการณ์ลำไยของพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ โทร 0 5312 1318 หรืออีเมล zone1@oae.go.th