แนะวิธีกำจัด-ตัดวงจรชีวิต “หนอนห่อใบงา” ระบาดหนักช่วงอากาศร้อน มีฝนตก

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร แนะเกะเกษตรกรผู้ปลูกงา กำจัดและตัดวงจร “หนอนห่อใบงา” ด้วยกับดักแมลงชนิดไฟฟ้าดักผีเสื้อกลางคืน   ชี้หากพบมากกว่า 2 ตัวต่อแถวปลูกงายาว 1 เมตร ต้องใช้สารกำจัด ชี้ต้นอ่อนปล่อยไปถึงตาย เผยหนอนชนิดนี้จะบาดหนักช่วงอากาศร้อน มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่

     กรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนมาว่า  ในช่วงนี้สภาพอากาศร้อน มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ แนะเกษตรกรผู้ปลูกงาเฝ้าระวัง การระบาดของ หนอนห่อใบงา มักพบการเริ่มเข้าทำลายในระยะตั้งแต่ต้นงาเริ่มงอกพ้นผิวดินจนถึงต้นงาอายุ 30 วัน  โดยหนอนห่อใบงาจะเข้าทำลายโดยการชักใยดึงใบงามาห่อตัวไว้แล้วกัดกินใบ ถ้าเข้าทำลายตั้งแต่ต้นอ่อน ต้นงาจะตาย ทำให้ต้องปลูกซ่อมใหม่ เมื่อต้นงาโตขึ้น หนอนห่อใบงา จะเข้าทำลายบริเวณยอดอ่อน ดอก ใบ และฝัก ทำให้ผลผลิตงาเสียหาย 27-40%

     หากพบการระบาดของหนอนห่อใบงา ให้เกษตรกรใช้กับดักแมลงชนิดไฟฟ้าดักผีเสื้อกลางคืน (ตัวเต็มวัยของหนอนห่อใบงา) ไม่ให้มาวางไข่ได้ เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตและตัดวงจรการระบาดของหนอนห่อใบงา ในระยะนี้ ให้เกษตรกรผู้ปลูกงาหมั่นสังเกตเมื่อพบหนอนห่อใบงามากกว่า 2 ตัวต่อแถวปลูกงายาว 1 เมตร

    ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพ่นเมื่อต้นงามีอายุ 5 วัน  20 วัน และ 40 วัน โดยพ่นติดต่อกัน 3 ครั้ง