เทคนิคจีโนมใหม่ : สมาชิกรัฐสภายุโรปสนับสนุนเกษตรกร ทำการเกษตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม-สุขภาพของมนุษย์

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

  • มีขั้นตอนการกำกับดูแลที่ง่ายกว่าสำหรับพืชที่พัฒนาด้วยเทคนิคจีโนมใหม่ (New Genomic Techniques – NGT) ซึ่งถือว่าเทียบเท่ากับพืชทั่วไป
  • ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่มาจากพืชที่พัฒนาด้วยเทคนิคจีโนมใหม่ ยังคงต้องมีการติดฉลากบังคับ
  • หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรปได้ประเมินในประเด็นปัญหาด้านความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นของพืชที่พัฒนาด้วยเทคนิคจีโนมใหม่

เพื่อระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นมากขึ้น สมาชิกรัฐสภายุโรปสนับสนุนกระบวนการที่ง่ายกว่าสำหรับพืชที่พัฒนาด้วยเทคนิคจีโนมใหม่ ซึ่งเทียบเท่ากับพืชทั่วไป ในขณะที่พืชที่พัฒนาด้วยเทคนิคจีโนมอื่น ๆ จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น

รัฐสภารับที่จะเจรจากับรัฐสมาชิกเกี่ยวกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับเทคนิคจีโนมใหม่ (NGTs) ที่เปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ด้วยคะแนนเสียง 307 เสียง ต่อ 263 และงดออกเสียง 41 เสียง

วัตถุประสงค์ คือ เพื่อทำให้ระบบอาหารมีความยั่งยืนและยืดหยุ่นได้มากขึ้น โดยการพัฒนาพันธุ์พืชให้มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ ต้านทานศัตรูพืช และให้ผลผลิตที่สูงขึ้นหรือต้องใช้ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูน้อยลง

ปัจจุบัน พืชทั้งหมดที่พัฒนามาจากเทคนิคจีโนมใหม่ จะต้องอยู่ภายใต้กฎเดียวกันกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) สมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะมี 2 ประเภทและมีกฎระเบียน 2 ชุดที่แตกต่างกันสำหรับเทคนิคจีโนมใหม่ เทคนิคจีโนมใหม่ที่ถือว่าเทียบเท่ากับพืชทั่วไป (NGT 1) จะได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ในขณะที่เทคนิคจีโนมใหม่อื่นๆ (NGT 2) จะยังคงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เข้มงวดกว่า สมาชิกรัฐสภายังต้องการคงการติดฉลากบังคับของผลิตภัณฑ์จากทั้ง NGT 1 และ NGT 2

สมาชิกรัฐสภายังเห็นพ้องด้วยว่าเทคนิคจีโนมใหม่ทั้งหมดยังคงถูกห้ามในการผลิตแบบออร์แกนิก เนื่องจากความเข้ากันได้ของเทคนิคจีโนมใหม่ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม และต้องการให้คณะกรรมาธิการรายงานว่าการรับรู้ของผู้บริโภคและผู้ผลิตเกี่ยวกับเทคนิคใหม่ ๆ มีการพัฒนาอย่างไร ในช่วง 7 ปีหลังจากมีผลบังคับใช้

สำหรับ NGT 1 สมาชิกรัฐสภาต้องการแก้ไขขนาดและจำนวนการแก้ไขที่จำเป็นสำหรับเทคนิคจีโนมใหม่ เพื่อให้ถือว่าเทียบเท่ากับพืชทั่วไป และเพื่อให้เกิดความโปร่งใส สมาชิกรัฐสภาตกลงที่จะจัดทำรายชื่อออนไลน์สาธารณะของ NGT 1 ทั้งหมด

สำหรับ NGT 2 สมาชิกรัฐสภาตกลงที่จะรักษาข้อกำหนดส่วนใหญ่ของกฎหมายว่าด้วยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธูกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายที่เข้มงวดที่สุดในโลก รวมถึงขั้นตอนการอนุญาตด้วย

เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้ประโยชน์ สมาชิกรัฐสภาตกลงที่จะเร่งรัดขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงสำหรับ NGT 2 ที่คาดว่าจะมีส่วนช่วยในระบบอาหารเกษตรที่ยั่งยืนมากขึ้น แต่เน้นย้ำว่าต้องเคารพสิ่งที่เรียกว่าหลักการเตือนล่วงหน้า

สมาชิกรัฐสภาต้องการห้ามมีสิทธิบัตรพืชที่มาจากเทคนิคจีโนมใหม่ ชิ้นส่วนพืช ส่วนประกอบ ข้อมูลทางพันธุกรรม และคุณลักษณะกระบวนการทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนทางกฎหมาย ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และการพึ่งพาใหม่สำหรับเกษตรกรและนักปรับปรุงพันธุ์ นอกจากนี้ยังขอให้ส่งรายงานภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2568 เกี่ยวกับผลกระทบของสิทธิบัตรต่อนักปรับปรุงพันธุ์และเกษตรกรในการเข้าถึง ส่วนขยายพันธุ์ของพืชที่หลากหลาย ตลอดจนข้อเสนอทางกฎหมายเพื่อปรับปรุงกฎของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้สอดคล้องกัน

หลังจากการลงคะแนนเสียง Jessica Polfjärd (EPP, SE) ผู้บันทึกรายงาน กล่าวว่า “เทคนิคจีโนมใหม่ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารของยุโรป และเพื่อทำให้การผลิตทางการเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กฎใหม่จะอนุญาตให้มีการพัฒนาพันธุ์พืชที่สามารถรับประกันผลผลิตที่สูงขึ้น ทนต่อสภาพอากาศ หรือต้องใช้ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูน้อยลง และหวังว่าประเทศสมาชิกจะยอมรับการตัดสินใจนี้ เพื่อให้สามารถนำกฎใหม่มาใช้ก่อนการเลือกตั้งในยุโรป และมอบพันธุ์พืชเกษตรกรต้องการสำหรับการทำการเกษตรที่ดีขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์”

หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรปได้ประเมินปัญหาด้านความปลอดภัยของเทคนิคจีโนมใหม่ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากเทคนิคจีโนมใหม่ ซึ่งหลายชนิดมีอยู่แล้วหรืออยู่ในกระบวนการวางจำหน่ายในตลาดนอกสหภาพยุโรป เช่น กล้วยในฟิลิปปินส์ที่ไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ซึ่งมีศักยภาพในการลดขยะอาหารและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ครับ เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการใช้ประโยชน์จากเทคนิคจีโนมใหม่ของโลก

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.europarl.europa.eu/news/en/press-room/20240202IPR17320/new-genomic-techniques-meps-back-rules-to-support-green-transition-of-farmers?fbclid=IwAR3-tZhr8NEhD_BMnVAXPl5xovwiiT7jiqhiFYCf27wy_A3jrxn6Xj7xdF8