โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore – NUS) และศูนย์วิศวกรรมชีววิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งสิงคโปร์ (Singapore Centre for Environmental Life Sciences Engineering – SCELSE) ได้ค้นพบจุลินทรีย์เกษตร ที่สามารถเพิ่มการทำงานร่วมกันระหว่างพืชกับจุลินทรีย์ ซึ่งส่งผลต่อการปรับปรุงผลผลิตและประสิทธิภาพการผลิต
ในการศึกษาที่ดำเนินการนานกว่า 5 ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าฮอร์โมนพืช methyl jasmonate (MeJA) ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ที่ปกติแล้วพืชจะปล่อยออกมาเหนือพื้นดินในช่วงเวลาที่มีความเครียด เป็นการสื่อสารซึ่งอาจเป็นความลับที่เข้าใจร่วมกัน ระหว่างพืชกับจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินรอบ ๆ ต้นพืช
ทีมวิจัยค้นพบว่า MeJA ถูกปลดปล่อยบริเวณใต้ดินโดยรากพืชในรูปแบบสารระเหย MeJA ที่ระเหยง่ายนี้จะกระตุ้นและเพิ่มการก่อตัวของไบโอฟิล์ม(Biofilm คือ การรวมกลุ่มกันของจุลชีพที่เริ่มจากการเกาะติดบนพื้นผิวที่มีความชื้นสูงหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีของเหลวล้อมรอบ) ในแบคทีเรียที่อยู่ห่างจากรากพืช และแบคทีเรียเหล่านี้ในไบโอฟิล์มจะปล่อยสารประกอบระเหยชุดอื่น ที่สามารถเพิ่มการเจริญเติบโตของพืชได้มากถึงร้อยละ 30
จุลินทรีย์เกษตรครอบคลุมชุมชนจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับพืช ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช การป้องกันโรค และการตรึงไนโตรเจน นอกจากนี้ยังช่วยรักษาดินให้อุดมสมบูรณ์ด้วยการย่อยสลายอินทรียวัตถุ นำสารอาหารกลับมาใช้ใหม่ และสร้างฮิวมัสเพื่อรักษาความชื้น เพื่อติดตามผลการค้นพบเบื้องต้น ทีมงานจะตรวจสอบลักษณะทางเคมีที่แน่นอนของสารประกอบที่ปล่อยออกมาจากสภาพแวดล้อมของจุลินทรีย์ในดินที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช
ครับ รู้ตัวกระตุ้นให้เกิดไบโอฟิลม์ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นสารอะไรที่ปล่อยออกมา ที่สามารถเพิ่มการเจริญเติบโตของพืชได้มากถึงร้อยละ 30 ก็ต้องศึกษากันต่อไป
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://news.nus.edu.sg/nus-scientists-uncover-hormone-that-can-boost-plant-growth/