โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
นับตั้งแต่มีการนำเสนอสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในแอฟริกา ชาวแอฟริกันต้องเผชิญกับความเข้าใจผิดและความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งก็น่าแปลกที่การโต้วาที ที่นำโดยนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม อาศัยความเข้าใจจากคำบอกเล่า ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์
เนื่องจากการเกษตรมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของคนนับล้านในแอฟริกา ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม จึงเป็นสิ่งขัดขวางการนำเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรมาใช้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศในแอฟริกาได้เริ่มเอาชนะความเข้าใจผิดเหล่านี้ และยอมรับศักยภาพของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ว่าเป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับความมั่นคงทางอาหาร
โดยผู้นำของแอฟริกาได้ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของพันธุวิศวกรรม ที่สามารถมีบทบาทในการพัฒนาพันธุ์พืชปลูกและการเพิ่มความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ และในปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลใหม่ของเคนยาได้ยกเลิกการห้ามสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม หลังจากที่ห้ามมาเป็นเวลา 10 ปี และ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยกำลังเฉลิมฉลองว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะนำไปสู่การแสวงหาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ก็มีบุคคลกลุ่มหนึ่งยื่นฟ้องศาลเพื่อท้าทายการยกเลิกดังกล่าว ซึ่งกลยุทธ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
ก่อนหน้านี้ก็มีการว่าจ้างโดยกลุ่มต่อต้านสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในไนจีเรีย หลังจากได้รับการอนุญาตให้ทดสอบภาคสนามของข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งประเทศกานาก็ไม่รอดพ้นกรณีนี้เช่นกัน เนื่องจากการฟ้องร้องที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มต่อต้านสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมมีการดำเนินงานมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว เมื่อไนจีเรียปลูกฝ้ายบีที (ฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรม) เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2561 และนักเคลื่อนไหวต่อต้านเทคโนโลยีเรียกร้องให้มีการห้ามสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมทั้งหมด
Dr. Ogbonnaya Onu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในขณะนั้น กล่าวว่า “การถกเถียงกันว่า สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมปลอดภัยหรือไม่นั้นเป็นเพียงจินตนาการของสื่อ” และ “วิทยาศาสตร์และชุมชนวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่า สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมนั้นปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สิ่งแวดล้อม หรือสัตว์”
ในขณะที่เปิดการประชุม AATF Review and Planning ในปี พ.ศ. 2566 สำหรับโครงการถั่วพุ่มที่ทนทานต่อหนอนเจาะฝัก (Pod Borer Resistant – PBR) Dr. Kwaku Afriyie รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของกานากล่าวว่า “แอฟริกาต้องการวิธีการใหม่ในการเลี้ยงประชากรชาวกานา วิธีปฎิบัติแบบเก่าไม่สามารถช่วยได้” และ “เทคโนโลยีชีวภาพได้นำเสนอเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมในรูปแบบของพันธุวิศวกรรม ซึ่งได้ช่วยเหลือทวีปอื่น ๆ ในการบรรลุความพอเพียงในการผลิตพืชปลูกที่สำคัญ ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีชีวภาพดังกล่าวมีข้อได้เปรียบ และแอฟริกาต้องไม่มีความแตกต่าง”
กลุ่มต่อต้านสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมกล่าวเสมอว่า สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคของมนุษย์ และเพื่อต่อสู้กับสิ่งนี้ รัฐบาลและนักวิทยาศาสตร์ในแอฟริกาได้มีส่วนร่วมในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างเข้มงวด เพื่อประเมินความปลอดภัยของพืชดัดแปลงพันธุกรรม การศึกษาจำนวนมากที่ดำเนินการโดยสถาบันที่มีชื่อเสียง เช่น African Biosafety Network of Expertise (ABNE) ได้ยืนยันอย่างต่อเนื่องถึงความปลอดภัยของพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ได้รับการอนุญาตสำหรับการบริโภคของมนุษย์ และการค้นพบนี้ได้ค่อย ๆ ขจัดความเชื่อผิด ๆ ออกไป ซึ่งนำไปสู่การรับรู้เชิงบวกของสาธารณชนเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
เกษตรกรในไนจีเรียปลูกฝ้ายบีที และรับประทานถั่วพุ่มที่ทนทานต่อหนอนเจาะฝัก มานานกว่า 3 ปีโดยไม่มีรายงานที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรืออันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และ ในปี พ.ศ. 2565 กานาอนุญาตให้ปลดปล่อยถั่วพุ่มที่ทนทานต่อหนอนเจาะฝัก ในขณะที่บูร์กินาฟาโซ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำของแอฟริกาในการปลูกฝ้ายบีทีในทศวรรษที่ผ่านมา ก็อนุญาตให้ปลดปล่อยถั่วพุ่มที่ทนทานต่อหนอนเจาะฝักเช่นกัน
ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ยอมรับพืชดัดแปลงพันธุกรรมมากขึ้น นักวิจารณ์ยังคงเชื่อว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมให้เกิดศัตรูพืชและวัชพืชขั้นรุนแรง
ศาสตราจารย์ Paco Sereme ประธานสถาบันวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และจดหมายแห่งชาติ (National Academy of Sciences, Arts and Letters) แห่งบูร์กินาฟาโซ กล่าวว่า “ชาติต่าง ๆ ในแอฟริกาตระหนักถึงความจำเป็นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากความหลากหลายทางนิเวศวิทยาที่เป็นเอกลักษณ์ของทวีปนี้” และ “หน่วยงานกำกับดูแลและนักวิจัยได้ทำการประเมินความเสี่ยงอย่างกว้างขวางเพื่อจัดการกับข้อกังวลเหล่านี้ก่อนที่จะอนุญาตพืชดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์”
นอกจากนี้ พันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรมบางพันธุ์ ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดความจำเป็นในการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อชนิดพันธุ์ที่ไม่ใช่เป้าหมายได้ ด้วยการจัดลำดับความสำคัญจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และกรอบการกำกับดูแลที่เข้มงวด ประเทศในแอฟริกากำลังเอาชนะความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ
ความเข้าใจผิดทั่วไปอีกประการหนึ่งที่นักเคลื่อนไหวต่อต้านสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมบอกต่อ คือ มีเพียงบรรษัทข้ามชาติเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยยังคงเสียเปรียบ แต่ในความเป็นจริงแล้วจากแนวทางของแอฟริกาเป็นการให้ประโยชน์แก่เกษตรกรทุกคน โดย “พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่พัฒนาและปลดปล่อยในแอฟริกา ได้รับการออกแบบให้ทนทานต่อศัตรูพืชหรือทนแล้ง ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนของปัจจัยการผลิตสำหรับเกษตรกร”
พืชปลูกทั้งหมดที่พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีนี้ ปลูกโดยสถาบันวิจัยของรัฐบาล ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะได้รับทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาพันธุ์พืชปลูกต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของสังคม ในไนจีเรีย สถาบันเพื่อการวิจัยการเกษตร (Institute for Agricultural Research – IAR) ที่อายุ 100 ปี เป็นผู้นำในการพัฒนาและปลดปล่อยพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม โดยเมล็ดพันธุ์จะถูกขายให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ในราคาถูกเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรนำพันธุ์ไปใช้ การมาของพืชดัดแปลงพันธุกรรมจึงเป็นการเปิดระบบเมล็ดพันธุ์ในแอฟริกาด้วย โดยเกษตรกรได้รับการสนับสนุนให้ซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกฤดูกาลเพาะปลูก แทนที่จะเก็บเมล็ดไว้ปลูกซ้ำ
พืชดัดแปลงพันธุกรรมส่วนใหญ่ที่พัฒนาและปลดปล่อยในแอฟริกาได้รับการออกแบบมาให้ทนทานต่อศัตรูพืชหรือทนแล้ง ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนปัจจัยการผลิตสำหรับเกษตรกร ด้วยการร่วมมือกับสถาบันการเกษตรในท้องถิ่น ประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกาได้พัฒนาพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะ เพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกรรายย่อยและกระตุ้นให้เกิดการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย
ครับ การเรียนรู้จากแอฟริกา อาจนำไปสู่แนวทางการใช้ประโยชน์จากพืชดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศไทย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://allianceforscience.org/blog/2023/08/anti-gm-crops-activists-in-africa-spread-fear-and-myths-but-do-not-provide-scientific-evidence/