โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
คณะกรรมาธิการยุโรปเผยแพร่ข้อเสนอเทคนิคใหม่ที่เกี่ยวกับจีโนม (New Genomic Techniques – NGTs) และส่วนขยายพันธุ์ (Plant Reproductive Material – PRM) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์ เกษตรกร และผู้ปลูกพืชผักในยุโรป
ข้อเสนอนี้เสนอว่า พืชที่ได้มาจากการกลายพันธุ์ที่กำหนดเป้าหมาย (targeted mutagenesis) และ cisgenesis (การดัดแปลงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่สามารถผสมข้ามกันได้) นั้นถูกจัดประเภทแยกต่างหากจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ และแนะนำกระบวนการจดแจ้ง สำหรับพืชประเภทที่ 1 ที่มีลักษณะเหมือนพืชปกติ (“conventional-like” category 1 plants) เพื่อยืนยันสถานะของพืชดังกล่าว
ปัจจุบัน พืชที่พัฒนาโดยใช้ NGTs อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันกับจีเอ็มโอ แต่ภายใต้กฎหมายที่เสนอ พืชที่พัฒนาโดยใช้ NGTs ที่อาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือโดยการปรับปรุงพันธุ์แบบปกติ จะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อเสนอ พืชที่ตรงตามเกณฑ์เหล่านี้จะได้รับการปฏิบัติเหมือนพืชทั่วไป ดังนั้นจึงได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดของกฎหมายจีเอ็มโอ พืชเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีการประเมินความเสี่ยง และสามารถติดฉลากได้เช่นเดียวกับพืชปกติ
สำหรับพืชอื่น ๆ ที่พัฒนาโดยใช้ NGT ทั้งหมด ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายจีเอ็มโอฉบับปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่าพืชเหล่านี้ต้องได้รับการประเมินความเสี่ยง และสามารถนำพืชเหล่านี้เข้าสู่ตลาดได้ตามขั้นตอนการอนุญาตเท่านั้น นอกจากนี้วิธีการตรวจสอบและข้อกำหนดการตรวจสอบที่ปรับให้เหมาะจะถูกนำไปใช้กับพืชเหล่านี้
ข้อเสนอใหม่นี้เกี่ยวข้องกับพืชที่เกิดจากการกลายพันธุ์ที่กำหนดเป้าหมาย และ cisgenesis และผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารสัตว์ที่มาจากพืชเหล่านี้เท่านั้น ไม่รวมถึงพืชที่ได้จากการดัดแปลงพันธุกรรม เนื่องจากเทคนิคดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้กฎหมาย จีเอ็มโอที่มีอยู่
ครับ ถ้าการกลายพันธุ์ที่กำหนดเป้าหมายหมายรวมถึงการกลายพันธุ์มาจากการแก้ไขยีน ก็น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/qanda_23_3568