การผลิตสารประกอบตัวยาจากถั่วเหลือง

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

นักวิจัย 2 ท่านจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด (University of Colorado – UC) ที่เมือง Boulder ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทดลองเปลี่ยนถั่วเหลืองให้เป็นโรงงานเคมีโดยใช้ระบบที่พัฒนาขึ้น ซึ่งใส่คำสั่งทางพันธุกรรมเข้าไปในถั่วเหลือง และ เมื่อเวลาผ่านไป นักวิจัยสามารถผลิตสารประกอบที่จำเป็นสำหรับนมทารก วัคซีน และการรักษาโรคมะเร็ง

สารประกอบสำคัญที่ใช้ในเภสัชภัณฑ์มักมาจากพืชและสัตว์ที่มีชีวิต แต่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ใกล้สูญพันธุ์มากขึ้นทุกปี เช่น ปลาฉลามที่ตับผลิตน้ำมันธรรมชาติสควาลีน (squalene) สำหรับผลิตวัคซีน และต้นยูที่มีอายุมาก (old yew trees) ที่เปลือกมีสารพาคลิแท็กเซล (paclitaxel) ที่ใช้สำหรับเคมีบำบัด เพื่อให้การผลิตยามีความยั่งยืนมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ของ UC ได้เกิดแนวคิดในการผลิตสารประกอบโดยใช้ถั่วเหลือง สิ่งที่แตกต่าง คือ นักวิจัยใช้วิธีสร้างสารประกอบจากพืชโดยตรง แต่ผู้ผลิตรายอื่นที่ใช้แบคทีเรียและยีสต์เพื่อสร้างสารเคมี

นักวิจัยเลือกใช้ถั่วเหลืองเนื่องจากความมีประสิทธิภาพ ถั่วเหลืองสามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นโปรตีนและไขมันจำนวนมาก พร้อมกับคืนไนโตรเจนให้กับดิน นอกจากนี้ยังมีราคาถูกและสามารถเข้าถึงได้ เมื่อรวมการใช้ระบบที่นักวิจัยสร้างขึ้นด้วยรหัสพันธุกรรมจากต้นยู นักวิจัยสามารถทดสอบวิธีการและใส่คำสั่งทางพันธุกรรมให้กับต้นถั่วเหลือง เพื่อสร้างยาต้านมะเร็ง paclitaxel

นักวิจัยอธิบายกระบวนการนี้ว่า “การทำซุปถั่ว (making bean soup)” โดยการเติมน้ำลงในหม้อขนาดใหญ่ที่มีถั่วเหลืองและตั้งทิ้งไว้จนกว่าจะเริ่มทำสิ่งที่ถั่วเหลืองได้รับคำสั่งให้ทำ ว่ากันว่า “ซุป” ดูเหมือนน้ำ แต่แท้จริงแล้วเป็นคำสั่งเพื่อการดำรงชีวิต

นักวิจัยยังมีแผนที่จะดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์ชิ้นแรก นั่นคือโปรตีนนมที่ผ่านการทำวิศวกรรมชีวภาพ (bioengineered milk protein) ซึ่งมีความสำคัญต่อพัฒนาการของทารกภายในปีนี้

ครับ นี่คือศักยภาพที่มีความสำคัญยิ่งในการผลิตสารประกอบตัวยา เพื่อการดำรงชีวิต

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.colorado.edu/today/2023/03/01/new-magic-beans-produce-ingredients-cancer-treatments-vaccines-and-more