โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
เทคโนโลยีการแก้ไขยีนเป็นเครื่องมืออันทรงพลัง ที่สามารถส่งเสริมการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการขาดสารอาหาร และลดราคาอาหารที่ผู้บริโภคจะต้องจ่าย หลายสิบประเทศได้ออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลโดยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based regulations) ให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชแก้ไขยีน (gene-edited crops) ที่มีความต้านทานต่อโรค เพิ่มปริมาณสารอาหาร และลักษณะที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย
หลังจากการออกจากสหภาพยุโรป (EU) สหราชอาณาจักร หรืออังกฤษพร้อมที่จะมีอิสระในการออกกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของอาหารและอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีการแก้ไขยีนในการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักรได้เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้บริโภค และให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมมหาศาล หากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่รอดำเนินการมีผลบังคับใช้ แต่กฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวและผู้ผลิตอาหารออร์แกนิก แม้ว่าการคัดค้านการแก้ไขยีนจะมีเจตนาดี แต่ก็ไม่ได้อยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
สหราชอาณาจักรกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับการแก้ไขยีนเพื่อใช้ในการเกษตรในอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายควรเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เพื่อรับเอาพันธุวิศวกรรมทุกรูปแบบ รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนาสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ซึ่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ใช้ได้อย่างปลอดภัยในการผลิตอาหาร สร้างรายได้เพิ่มหลายพันล้านให้กับเกษตรกร และลดราคาอาหารสำหรับผู้บริโภคลงอย่างมาก
ครับ อนาคตการแก้ไขยีนในสหราชอาณาจักรกำลังสดใส ในขณะที่ประเทศไทยยังมองไม่เห็นอนาคต
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://iea.org.uk/publications/harvest-time-why-the-uk-should-unleash-the-power-of-gene-editing/