บทสรุปจากจัดสัมมนาทางวิชาการออนไลน์ “เพื่อการผลิตพืชที่ยั่งยืนของประเทศไทย”

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

ตามที่สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ร่วมกับ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร และ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดสัมมนาทางวิชาการออนไลน์ “เพื่อการผลิตพืชที่ยั่งยืนของประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างเดือน มิถุนายน -กรกฎาคม 2565 จำนวน 4 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1.แบ่งปันข้อมูลข่าวสาร การวิจัยและพัฒนา การใช้ประโยชน์ และการกำกับดูแล พืชดัดแปลงพันธุกรรม

2.สร้างความตระหนักแก่สาธารณชนถึงศักยภาพของพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และ สร้างความมั่นคงทางอาหาร

3.ให้การเรียนรู้ในเรื่องการกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ระบุอยู่ใน ร่าง พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ……………..และ

4.หาข้อเสนอแนะ เพื่อการผลักดันการใช้ประโยชน์จากพืชดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศไทย

โดยการสัมมนาครั้งที่ 1 เป็นเรื่องของ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ด้านพืช ครั้งที่ 2 เป็นเรื่องของ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อการผลิตพืช ครั้งที่ 3 เป็นเรื่องของ การปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อความมั่นคงทางอาหารที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ ครั้งที่ 4 เป็นเรื่องของ ผลกระทบของร่างกฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่

มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการออนไลน์ จาก 4 ครั้งโดยเฉลี่ยครั้งละ 162 คน ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เฉลี่ยร้อยละ 44.5 และให้ความสนใจสูงในการสัมมนาครั้งที่ 1 และ 4 แต่ผู้เข้าร่วมสัมมนาที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญาตรี จะให้ความสนใจในการสัมมนาทุกครั้ง ยกเว้นครั้งที่ 4 ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมน้อย

อาชีพของผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้ง 4 ครั้ง โดยเฉลี่ย ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 44.7 ตามด้วยนักศึกษาร้อยละ 36.1 และที่เหลือจะเป็น นักวิจัย อาจารย์ และพนักงาน/ข้าราชการ ซึ่งพนักงานบริษัทเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนาในครั้งที่ 3 และ 4 มากกว่า ในขณะที่ นักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนาในครั้งที่ 1 และ 2 มากกว่า

ความรู้เดิมของผู้เข้าร่วมสัมมนา

  • ร้อยละ 58.3 คิดว่า พืชที่พัฒนามาจากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่มีส่วนช่วยให้เกิดความยั่งยืนในการผลิต
  • ร้อยละ 41.7ทราบว่า ภาวะโลกร้อนเกิดจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก และก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเกษตร คือ: คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
  • ร้อยละ 75คิดว่าพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรปลูกอยู่ในปัจจุบันเป็นพันธุ์พืชที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีมาตรฐาน และ
  • ร้อยละ 50 คิดว่า ถ้าร่างกฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรม ได้ค่อนข้างมาก

ผลที่ได้จากการสัมมนาทางวิชาการ ทั้ง 4 พอสรุปได้ดังนี้

ด้านการวิจัยและพัฒนา

  • เทคโนโลยีที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชทุกเทคโนโลยี เป็นการดัดแปลงพันธุกรรมพืช ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีมาตรฐาน เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม และ เทคโนโลยีการแก้ไขยีน ทั้งนี้เพื่อให้พืชที่ถูกดัดแปลงหรือพืชดัดแปลงพันธุกรรม มีลักษณะทางการเกษตรและลักษณะอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกและต่อผู้บริโภค
  • มีหลายหน่วยงานที่พัฒนาพืชโดยใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2541 – 2557 (16 ปี) มีโครงการวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรมจำนวน 96 โครงการ ในพืช 30 ชนิด
  • ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การแก้ไขยีน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ง่ายขึ้น เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่มีค่าใช้จ่ายลดลง ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของนักวิจัยไทยที่นำมาปรับใช้ในพืชหลายชนิด เช่น กล้วยไม้ ฟ้าทะลายโจร อ้อย แตงกวา ข้าว มันสำปะหลัง และสับปะรด เป็นต้น

ด้านการใช้ประโยชน์

  • จากข้อมูลล่าสุดปี 2562 มีพื้นที่ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม จำนวน 1,190 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็น ถั่วเหลืองข้าวโพดฝ้ายและคาโนลาจากทั้งหมด 29 ประเทศ ทั่วโลก และ
  • ที่ผ่านมา พืชดัดแปลงพันธุกรรมมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ และบรรเทาความยากจนและหิวโหย

ด้านการกำกับดูแล

  • ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร อาหารสัตว์ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านอาหาร และ สิ่งแวดล้อม ก่อนปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม และก่อนการอนุญาตเพื่อใช้เป็นอาหาร อาหารสัตว์และการแปรรูป
  • การกำกับดูแลในปัจจุบัน ใช้ พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้ พืชดัดแปลงพันธุกรรม เป็นสิ่งต้องห้าม แต่อนุญาตให้นำเข้าได้เพื่อการศึกษาทดลอง และ อนุญาตให้นำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อใช้เป็นอาหาร อาหารสัตว์ และการแปรรูปและ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522โดยกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ที่มาจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม ยกเว้นอาหารที่มาจากถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมที่อนุญาตให้นำเข้าตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่ต้องแสดงฉลากระบุคำว่า ดัดแปรพันธุกรรม

 

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อการผลิตพืช

  • CO2เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และตั้งแต่ปี 2509 – 2563 ความเข้มข้นของ CO2ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นเกินระดับสูงสุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ ประเทศไทยจัดอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลกที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
  • ผลกระทบต่อภาคเกษตร ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจลดลง เช่น ข้าวอ้อยมันสำปะหลัง และยางพารา เป็นต้น รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและ ส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางอาหาร
  • การปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะการปรับปรุงลักษณะทางสรีรวิทยาของพืช ที่สำคัญ คือ การปรับปรุงกระบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมและการแก้ไขยีน
  • เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ที่จะช่วยชะลอและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร

การปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

  • เทคนิคใหม่ ๆ ที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืช เช่น พันธุวิศวกรรม และการแก้ไขยีน ส่งผลให้การปรับปรุงพันธุ์พืชมีศักยภาพมากขึ้นในการสนองตอบต่อความต้องการของโลกในอนาคต
  • เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เป็นการถ่ายฝากยีนหรือชุดของยีนจากสิ่งมีชีวิตอื่น ทำให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัย แต่ล่าสุดมีเทคโนโลยีการแก้ไขยีนที่กำลังเป็นที่นิยม เทคโนโลยีนี้จำแนกออกได้ 3 แบบ คือ SDN1 เป็นการซ่อมแซมส่วนดีเอ็นเอที่ถูกตัดออกไป แล้วเชื่อมปลายโครโมโซมทั้ง 2 ข้างที่เหลืออยู่เข้าหากัน SDN2 เป็นการซ่อมแซมโดยนำเอาชิ้นส่วนสั้น ๆ ของดีเอ็นเอใหม่ที่มีด้านปลายทั้ง 2 ข้างเหมือนกับโครโมโซมเดิมแทรกเข้าไป และ SDN3 เป็นการใส่สายดีเอ็นเอใหม่เข้าไป ซึ่งมีความต่างจากตำแหน่งยีนที่ถูกตัดไป
  • เทคโนโลยีการแก้ไขยีน แบบ SDN1 จะไม่มีการถ่ายฝากยีนจากสิ่งมีชีวิตอื่น จึงมีความห่วงกังวลน้อย เนื่องจากเป็นกระบวนการที่คล้ายคลึงกับการกลายพันธุ์เฉพาะจุด หรือ การกลายที่เกิดจากการแทนที่คู่เบสหนึ่งโดยอีกคู่เบสหนึ่ง หรือจากนิวคลีโอไทด์จำนวนเล็กน้อยที่ถูกเพิ่มขึ้นมาหรือขาดหายไป ในกรณีนี้หลาย ๆ ประเทศ จึงไม่มีการกำกับดูแลเหมือนเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม และในขณะที่บางประเทศก็ไม่กำกับดูแลใน SDN2 แต่ประเทศส่วนใหญ่จะกำกับดูแลเหมือนเทคโนโลยีด้านพันธุวิศวกรรม สำหรับ SDN3
  • เทคโนโลยีการแก้ไขยีนโดยเฉพาะ แบบ SDN1 ถูกนำเพื่อการพัฒนาพันธุ์พืช มากกว่า 40 ชนิด ใน 25 ประเทศ ที่อนุญาตให้ใช้เชิงการค้าแล้ว เช่น ถั่วเหลืองที่มีกรดโอเลอิกสูง และมะเขือเทศที่มสารกาบาสูง เป็นต้น
  • ประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะทำงานวิจัยและพัฒนาทางด้านนี้ แต่ขาดนโยบายสนับสนุน รวมถึงแหล่งเงินทุน ที่สำคัญมีการกำกับดูแลที่เข้มงวด และขั้นตอนที่ยุ่งยาก

แนวทางในอนาคตสำหรับประเทศไทยในบริบทของกรมวิชาการเกษตร

  • การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรได้ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการขับเคลื่อน นโยบายBio-Circular-Green Economy ซึ่งจัดเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564
  • นอกจากนี้ยังต้องศึกษาหาวิธีในการตรวจสอบการปนเปื้อนสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในผลิตภัณฑ์ รวมถึงการตรวจสอบในห้องปฎิบัติการและในสภาพแปลงปลูก และต้องทำการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านความห่วงกังวล และด้านประโยชน์ที่ได้รับ

ร่าง กฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ:

  • การควบคุมสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม จะอยู่ในหมวด 6 การควบคุมผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ที่กำหนดกลไกการกำกับดูแลที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งที่พัฒนาขึ้นมาในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศในทุกกระบวนการ ส่วนการกำหนดโทษจะอยู่ในหมวด 8 บทกำหนดโทษ ซึ่งมีทั้งโทษทางปกครอง และโทษทางอาญา
  • ล่าสุด ครม. มีมติ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 อนุมัติในหลักการ ร่าง พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ…………ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้ง รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม (ร่าง) พระราชบัญญัติดังกล่าว

ผลกระทบต่อการไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับดูแลพืชดัดแปลงพันธุกรรม

  • ผลกระทบต่องานวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะทำได้เฉพาะในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดในการทดสอบและการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพ และการพัฒนาสู่การใช้ประโยชน์
  • ผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม ประเทศปลายทางไม่มีข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และความปลอดภัยเกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อการวิเคราะห์ความปลอดภัยทางชีวภาพ ทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มต้นทุนในการตรวจวิเคราะห์
  • ผลกระทบต่อการผลิตพืช ไม่มีพันธุ์พืชที่พัฒนาใหม่ อาจทำให้เกิดความสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรเมื่อมีปัญหาสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ศัตรูพืชและโรคพืชแพร่ระบาดเข้าทำลายอย่างรุนแรง
  • ผลกระทบต่อธุรกิจการค้าเมล็ดพันธุ์พืช ตลาดการส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชของประเทศลดลง เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าเปลี่ยนไปปลูกพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม

ข้อเสนอแนะ เพื่อการผลักดันการใช้ประโยชน์จากพืชดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศไทย

ข่าวสารที่ได้รับจากการสัมมนาทางวิชาการทั้ง 4 ครั้ง ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแก้ไขยีน ที่สามารถใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะทำงานวิจัยและพัฒนาทางด้านนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีการแก้ไขยีน เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการขับเคลื่อน นโยบาย Bio-Circular-Green Economy ซึ่งถูกจัดเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 จึงขอเสนอแนะให้

1.สร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องในพันธุ์พืชที่พัฒนามาจากเทคโนโลยีดังกล่าว และในประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้กับประชาชน/ผู้บริโภค ในทุกระดับ รวมถึง ผู้กำหนดนโยบาย และสื่อมวลชน ซึ่งจะนำไปสู่

2.การมีนโยบายจากภาครัฐที่ต้องมีความชัดเจนในด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีการแก้ไขยีนเพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืช และเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

3.เร่งรัดการออก พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ…………….เพื่อควบคุมผลกระทบของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อาจมีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการใช้ประโยชน์

4.ควรมีระบบให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการกำกับดูแล แก่ผู้ทำวิจัยและพัฒนารวมทั้งผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ…………….

 

รายงานโดย : สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์