พบการแก้ไขจีโนมของพืช ช่วยลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

     การแก้ไขยีนหรือจีโนม กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือกลยุทธ์ใหม่ในการปรับปรุงแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติและทางการเกษตร เพื่อจำกัดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas – GHG)จากการเกษตรและภาคส่วนสำคัญอื่น ๆ และรวมทั้งเป็นการปฏิวัติเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งหมดนี้กล่าวโดย David Hart, Robert Rozanskyและ Val Giddings ในบทความของพวกเขาที่ตีพิมพ์ใน Genetic Literacy Project

    หนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาที่นำเสนอคือโครงการที่ชื่อว่า Trillion Trees ที่ยอมรับความสามารถพิเศษของพืชในการใช้การสังเคราะห์แสงเพื่อรวบรวมคาร์บอน แม้ว่ากระบวนการนี้จะไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงใช้เครื่องมือแก้ไขยีนเพื่อปรับปรุงกระบวนการสังเคราะห์แสง เมื่อเทคนิคใหม่เหล่านี้ประสบความสำเร็จคาดว่าจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 50 ในพืชหลักในขณะที่ลดการปล่อยมลพิษลงอย่างมากและเพิ่มรายได้ของเกษตรกร

     การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางการเกษตรส่วนใหญ่เกิดจากการย่อยสลายและการขนส่งขยะอาหาร ขณะนี้น้ำมันพืชที่มาจากถั่วเหลืองที่แก้ไขยีนเพื่อให้มีอายุการเก็บรักษานานขึ้นและมะเขือเทศที่ไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลมีวางจำหน่ายทั่วไปแล้วซึ่งมีส่วนช่วยลดขยะอาหาร การแก้ไขยีนมีศักยภาพในการขนส่งคาร์บอนต่ำโดยการเพิ่มประสิทธิภาพจุลินทรีย์ที่สามารถแปรรูปเซลลูโลสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ประมาณร้อยละ 6 ของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางการเกษตรทั่วโลกเกิดจากวัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซมีเทนจากการเรอ พบว่าวัวบางตัวปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณที่ต่ำกว่าเนื่องจากมีประชากรจุลินทรีย์เฉพาะที่พบในระบบทางเดินอาหาร ด้วยการแก้ไขยีนลักษณะนี้สามารถถ่ายโอนไปยังฝูงวัวและมีส่วนช่วยลดการปล่อย

   ครับ เป็นแนวคิดที่จะใช้เทคนิคการแก้ไขยีน/จีโนมในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางการเกษตร ในกรณีของพืช สามารถใช้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนในกระบวนการสังเคราะห์แสง และในสัตว์ สามารถใช้เพิ่มประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของวัวเพื่อลดปริมาณก๊าซมีเทน