กรมส่งเสริมการเกษตร งัดยาแรงบังคับใช้กับชาวสวนทุเรียนและโรงคัดบรรจุทุเรียนเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน ย้ำความสำคัญของใบรับรองมาตรฐาน GAP และแนวทางป้องกันการสวมสิทธิ์ใบรับรอง GAP ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ระบุไม่ว่าจะเป็นกรณีใดหากมีการตรวจพบจะถูกระงับการส่งทั้งสวน รวมถึงโรงคัดบรรจุ ด้วย แม้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตาม
กรมส่งเสริมการเกษตร รายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์ผลผลิตทุเรียนนอกฤดูในพื้นที่ภาคใต้ คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตรวมมากกว่า 13,000 กว่าตัน โดยมีกำหนดเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 11-31 มกราคม 2568 ประมาณ 4,000 กว่าตัน ซึ่งส่วนใหญ่มีการทำสัญญาซื้อขาย ล่วงหน้ากับล้งในราคา 200-280 บาท/กก. ทั้งนี้ ผลกระทบจากมาตรการป้องกันสารปนเปื้อนในทุเรียนที่จะส่งออกทำให้ล้งขอต่อรองลดจากสัญญา 30-50 บาท/กก. และมีเงื่อนไขให้เกษตรกรนำตัวอย่างผลผลิตไปตรวจรับรองหาสารเคมีตกค้างหากไม่ตรวจราคารับซื้อผลผลิตจะลดลงเหลือ 100-120 บาท/กก.
นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการซื้อขายทุเรียนที่มีปัญหาดังกล่าว ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ลงพื้นที่เพื่อรับทราบสถานการณ์รวมถึงชี้แจงเกษตรกรให้เข้าใจในปัญหาและอุปสรรคการค้าผลไม้ในด้านสุขอนามัยพืชและการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยในสินค้าผลไม้บางชนิดทั้งนี้ การสร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกร
เนื่องจากปัญหาด้านสุขอนามัยพืชในสินค้าไม้ผลส่งออก มี 2 สาเหตุหลักได้แก่ การปฏิบัติในแปลง เช่น การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและการปฏิบัติในโรงคัดบรรจุ เช่น การใช้สารชุบสี การรม ผลผลิตเพื่อกำจัดแมลง เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม หากมีการตรวจพบจะถูกระงับการนำเข้าทั้งสวน และโรงคัดบรรจุ ถ้าเกษตรกรไม่ระมัดระวังการใช้ใบรับรอง GAP อาจถูกสวมสิทธิ์ในการส่งออกและเมื่อมีการตรวจพบสารตกค้างอาจโดนระงับการอนุญาตนำเข้าได้ แม้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตาม
ดังนั้นขอให้เกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลเพื่อการส่งออกที่ได้รับการรับรอง มาตรฐาน GAPแล้วปฏิบัติตามระบบการผลิตพืชตามมาตรฐานที่ได้รับการรับรองไว้แล้วอย่างเคร่งครัด รวมถึงเน้นย้ำ ความสำคัญของใบรับรองมาตรฐาน GAPและแนวทางป้องกันการสวมสิทธิ์ใบรับรอง GAP โดยใช้ “มาตรการ 4 ไม่ 1 ก” ได้แก่ 1. ไม่ให้ใบรับรองแก่ผู้อื่น 2. ไม่ขายใบรับรองให้บุคคลอื่น 3. ไม่ให้ผู้อื่นถ่ายภาพใบรับรอง 4. ไม่ควรเผยแพร่ ใบรับรองในที่สาธารณะ และกำกับสำเนาใบรับรองทุกครั้งรวมถึงการควรระบุรายละเอียดการจำหน่ายผลผลิต เช่น วันที่จำหน่าย ผู้รับซื้อ/มือตัดทุเรียน และปริมาณที่จำหน่าย
รวมถึงส่งเสริมให้มีการจัดการผลผลิตให้เหมาะสม ต่อสถานการณ์ เช่น การยืดระยะเวลาเก็บเกี่ยว การจำหน่ายช่องทางอื่นๆ เป็นต้น รวมถึงกำชับเจ้าหน้าที่ติดตามในพื้นที่ อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้หากพบเหตุปกติให้แจ้งกรมส่งเสริมการเกษตรทราบโดยด่วน ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถขอรับคำแนะนำได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน.