โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมาทั่วโลกมีการถกเถียงเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรและพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GM) ซึ่งการถกเถียงนี้ จะครอบคลุมทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์เศรษฐกิจ การเมืองและแม้แต่ศาสนา ที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในห้องปฏิบัติการวิจัยห้องประชุมคณะกรรมการห้องนิติบัญญัติสำนักงานบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สถาบันศาสนาโรงเรียนซูเปอร์มาร์เก็ตร้านกาแฟและแม้แต่ในบ้านส่วนตัว
นักวิทยาศาสตร์ที่ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมได้ยืนยันถึงความปลอดภัยของพืชดังกล่าว ที่มีส่วนร่วมในผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลก รวมถึงการบรรเทาความยากจนและความอดอยาก เกษตรกรและครอบครัวที่ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมมีความพอใจกับประโยชน์ที่ได้รับ อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์หลายท่านยังเชื่อว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมไม่น่าจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารของโลก
แล้วท่านละคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ก่อนตอบคำถามนี้ ขอให้อ่านข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหลัง 10 ความเชื่อนี้ จาก ISAAA ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
ความเชื่อที่ 1:มีการใช้ทรัพยากรมากมายเพื่อการวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรมซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ควรมุ่งไปที่การทำเกษตรอินทรีย์หรือการปฏิบัติทางนิเวศวิทยาอื่น ๆ เนื่องจากการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัย
ความจริง: ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ว่าการทำเกษตรอินทรีย์ จะมีความปลอดภัยมากกว่าการทำเกษตรในรูปแบบอื่น ๆ และไม่มีข้อมูลใดที่พิสูจน์ได้ว่าการเพาะปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมไม่ปลอดภัย ซึ่งการทำเกษตรด้วยพืชดัดแปลงพันธุกรรม ในความเป็นจริงจะใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการทำเกษตรทั่วไป
การทำเกษตรอินทรีย์และการทำเกษตรด้วยพืชดัดแปลงพันธุกรรม สามารถช่วยแก้ปัญหาทางการเกษตรต่างๆ การทำเกษตรอินทรีย์ต้องอาศัยการปฏิบัติเช่นการจัดการศัตรูพืชทางชีวภาพและการเขตกรรม ซึ่งอาจรวมถึง IPM (Integrated Pest Management) และการควบคุมทางชีวภาพ แต่ไม่รวมการใช้สารเคมีสังเคราะห์และสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม
การทำเกษตรแบบเดิมจะใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูและสารเคมีกำจัดวัชพืชเพื่อปกป้องพืชผล แต่การทำเกษตรด้วยพืชดัดแปลงพันธุกรรมจะช่วยลดการใช้สารเคมีดังกล่าวได้มาก และมีความยั่งยืน “ โดยทั่วไปพืชดัดแปลงพันธุกรรมต้องการการปฎิบัติในแปลงเพาะปลูกน้อยลงเช่นการไถพรวนทำให้มีเศษซากพืชตกค้างในดินมากและกักเก็บ CO2ในดินได้มากขึ้นรวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ในปี 2561แนวทางปฏิบัติเหล่านี้จากการทำเกษตรด้วยพืชดัดแปลงพันธุกรรม ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 23 พันล้านกก. เทียบเท่ากับการนำรถยนต์จำนวน15.3 ล้านคันออกจากถนนเป็นเวลาหนึ่งปี
ความเชื่อที่ 2:พันธุวิศวกรรมสำหรับพืชไม่เป็นไปตามธรรมชาติ การดัดแปลงพันธุกรรมแบบนั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ความจริง: การดัดแปลงพันธุกรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เกษตรกรได้ทำการผสมข้ามพันธุ์พืชมาหลายศตวรรษ ขึ้นอยู่กับการลองผิดลองถูก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ส่วนเทคโนโลยีชีวภาพเป็นวิธีการที่ปลอดภัย รอบคอบมากขึ้น และทำซ้ำได้ ในการบรรลุผลลัพธ์ที่ต้องการ
การดัดแปลงพันธุกรรมนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาตามธรรมชาติ แม้ว่าจะไม่มีการแทรกแซงของมนุษย์ก็ตาม “พืชส่วนใหญ่สืบพันธุ์โดยการปฏิสนธิด้วยตนเอง หรือการเคลื่อนย้ายยีนจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งผ่านละอองเกสร กระบวนการนี้เป็นหลักการสำคัญของความหลากหลายทางพันธุกรรม แต่การเคลื่อนย้ายของยีนที่ไม่ต้องการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือจากการทำพันธุวิศวกรรม อาจส่งผลให้เกิดการปรากฎตัวขึ้นซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ และมีอยู่ในการผลิตและการตลาดของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ความเชื่อที่ 3:การทดสอบภาคสนามพืชดัดแปลงพันธุกรรมเป็นอันตราย มีความเสี่ยงสูงที่จะปนเปื้อนพืชอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง
ความจริง: การทดสอบภาคสนามดำเนินการภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวดมากและปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวด เงื่อนไขเหล่านี้รวมถึงการป้องกันการเคลื่อนย้ายของละอองเรณูและการป้องกันการปนเปื้อนที่มุ่งสู่อาหารและอาหารสัตว์ การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อบังคับหมายความว่าการทดสอบดังกล่าวจะต้องยุติลง
ความเป็นไปได้ของการผสมข้ามโดยไม่ได้ตั้งใจนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสำหรับพืชดัดแปลงพันธุกรรมเท่านั้นแต่ยีน (ละอองเกสร) มีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างพืชตลอดเวลาทั้งพืชปกติและพืชดัดแปลงพันธุกรรม การทดสอบภาคสนามที่ดำเนินการในประเทศต่างๆทั่วโลก ต่างก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เข้มงวด
ความเชื่อที่ 4:การทดสอบภาคสนามของพืชดัดแปลงพันธุกรรมแม้จะดูเหมือนว่าประสบความสำเร็จ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ถูกบิดเบือนเป็นเพราะการทดสอบภาคสนามที่ประสบผลสำเร็จได้นั้นเนื่องมาจากการใช้ปุ๋ยเพิ่มเติมและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูน้อยลง
ความจริง: การทดสอบภาคสนามดำเนินการเพื่อเปรียบเทียบพืชดัดแปลงพันธุกรรมกับพืชที่ไม่ได้ดัดแปลงพันธุกรรม และจัดให้มีการปฎิบัติทางเขตกรรมที่คล้ายคลึงกันยกเว้นในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปรพันธุกรรม
ข้อมูลทั้งหมดจากการวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรม ตั้งแต่ข้อเสนอการวิจัยไปจนถึงการทดสอบภาคสนามจะได้รับการตรวจสอบและลงนามโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเจ้าหน้าที่กักกันบุคลากรในโครงการและคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพระดับสถาบัน (Institutional Biosafety Committees – IBC) หากขั้นตอนใดของการทดสอบดูไม่ชอบมาพากลในทางใด ๆ การทดสอบนั้นจะยุติลง
ความเชื่อที่ 5: การปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และไม่รู้ว่าพืชเหล่านี้จะส่งผลกระทบอะไรต่อสิ่งแวดล้อมในอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้า
ความจริง: การปฎิบัติในการเพาะปลูกในปัจจุบัน จะรวมถึงการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูและสารเคมีกำจัดวัชพืช ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
พืชดัดแปลงพันธุกรรม ได้รับการพัฒนาให้ต้านทานศัตรูพืช ซึ่งจะช่วยลดการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูและสารเคมีกำจัดวัชพืชได้อย่างมาก ทำให้ลดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 พืชดัดแปลงพันธุกรรมได้ลดปริมาณการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชและในปี 2561 เพียงปีเดียว การลดลงของการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูและสารกำจัดวัชพืช ทำให้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ 23 พันล้านกิโลกรัมเทียบเท่ากับการนำรถยนต์จำนวน 15.3 ล้านคันออกจากท้องถนนเป็นเวลาหนึ่งปี
ความเชื่อที่ 6:บริษัท เมล็ดพันธุ์ควบคุมการขายและการใช้เมล็ดพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งบังคับให้เกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพงและฟ้องร้องเกษตรกรที่ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาต พืชดัดแปลงพันธุกรรมทำให้เกษตรกรยากจนและ บริษัทเมล็ดพันธุ์ร่ำรวยขึ้น
ความจริง:ร้อยละ 95 ของเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคนที่ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในปี 2561 เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ขาดแคลนทรัพยากรจากประเทศกำลังพัฒนา
การเพิ่มขึ้นของจำนวนเกษตรกรที่ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมแสดงให้เห็นว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมให้ผลประโยชน์ที่สำคัญและยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม และในทุกกรณีเกษตรกรมีอิสระในการเลือกชนิดของเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการปลูก
พื้นที่ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 เท่าในรอบ 18 ปีจาก 10.6 ล้านไร่ในปี 2539 เป็น 1,198.1 ล้านไร่ในปี 2561 ทำให้พืชดัดแปลงพันธุกรรมเป็นเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้รับการยอมรับเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
ความเชื่อที่ 7:พืชดัดแปลงพันธุกรรมมีส่วนในการวิวัฒนาการของ“ แมลงศัตรู” และ“ วัชพืช” แมลงศัตรูพืชและวัชพืชมีวิวัฒนาการหรือปรับตัวเพื่อเอาชนะการดัดแปลงพันธุกรรมของพืช
ความจริง: การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสารกำจัดวัชพืชมากเกินไปและขาดความรับผิดชอบมีผลต่อวิวัฒนาการของ“ แมลงศัตรู” และ“ วัชพืช” การปรับตัวของแมลงศัตรูและโรคพืชต่อยีนที่ต้านทานเกิดขึ้นได้ทั้งในพันธุ์พืชปกติและพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม การปฏิบัติเพื่อจัดการความต้านทานจะช่วยลดปรากฏการณ์นี้ให้เหลือน้อยที่สุด
ปัญหาของวัชพืชที่ต้านทานต่อสารกำจัดวัชพืชเกิดขึ้นได้กับทั้งพืชที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ตามปกติและจากพืชที่ได้จากการดัดแปลงพันธุกรรม การเกิดวัชพืชที่ทนทานสารกำจัดวัชพืช หรือที่เรียกว่า“superweeds”นั้นเกิดขึ้นจากการใช้สารกำจัดวัชพืชมากเกินไปหรือเกิดจากการเคลื่อนย้ายลักษณะการทนทานต่อสารกำจัดวัชพืชที่มีอยู่เดิมไปยังวัชพืชส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมวัชพืชได้ด้วยสารกำจัดวัชพืชที่ใช้ก่อนหน้านี้” การใช้สารกำจัดวัชพืชชนิดเดียวมากเกินไปอาจทำให้วัชพืชดื้อสารกำจัดวัชพืชและสามารถเจริญเติบโตได้เช่นเดียวกับการต้านทานของแมลงศัตรู การป้องกันด้วยวิธีการอื่น ๆ สลับกันไป ก็สามารถทำให้การพัฒนาความต้านทานในวัชพืชช้าลง
ความเชื่อที่ 8: อาหารที่มาจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมไม่ปลอดภัยสำหรับการบริโภคของมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้มะเร็งรักร่วมเพศและความพิการแต่กำเนิดรวมถึงผลข้างเคียงด้านลบอื่น ๆ อีกมากมาย
ความจริง: อาหารที่มาจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมมีอยู่ในตลาดมาหลายปีแล้วและมีความปลอดภัยเที่ยบเท่ากับอาหารที่มาจากพืชปกติ มีการทดสอบอย่างเข้มงวดกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมทั้งหมดก่อนที่จะนำไปสู่การค้า หากได้รับการอนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์แสดงว่ามีความปลอดภัยที่จะรับประทาน
อาหารและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยโดยสถาบันที่พัฒนาพืชดังกล่าว จากนั้นข้อมูลจะถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานกำกับดูแลเพื่ออนุญาตให้เพาะปลูกเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้อาหารและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังได้รับการทดสอบอย่างเข้มงวดโดยงานวิจัยอิสระโดยมีการตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสารที่มีผู้เชียวตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ได้รับการอนุญาตให้จำหน่ายในตลาดได้รับการ “ตรวจสอบโดยหน่วยงานกำกับดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยและเนื้อหา” และกระบวนการนี้สามารถเทียบเคียงได้กับการประเมินความปลอดภัยสำหรับเภสัชภัณฑ์
ความเชื่อที่ 9:พืชดัดแปลงพันธุกรรมไม่ปลอดภัยสำหรับการบริโภคของสัตว์เช่นกัน สัตว์เลี้ยงในฟาร์มที่กินพืชดัดแปลงพันธุกรรมมีอาการป่วยและถึงขั้นเสียชีวิต สัตว์ที่ใช้ในการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าเสียชีวิตจากการกินอาหารที่มาจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม
ความจริง: พืชดัดแปลงพันธุกรรมถูกใช้เป็นอาหารสัตว์มานานกว่า 23 ปีและไม่มีประวัติการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต
การศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ดำเนินการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามุ่งเน้นไปที่การใช้เป็นอาหารและอาหารสัตว์ จากวรรณกรรมพืชดัดแปลงพันธุกรรมในอาหารสัตว์มีความปลอดภัยสำหรับสัตว์และสำหรับมนุษย์ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เหล่านั้น
ความเชื่อที่ 10:ข้าวดัดแปลงพันธุกรรมที่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการและพืชดัดแปลงพันธุกรรมอื่น ๆ ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร ทางแก้ปัญหาอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพนั้นมีอยู่แล้ว และการขาดสารอาหารรองไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุขอีกต่อไป
ความจริง: การขาดสารอาหารรองทั่วโลกเป็นปัญหาด้านสุขภาพและโภชนาการที่ส่งผลให้อ่อนแอต่อโรคติดเชื้อปัญญาอ่อนและการเสียชีวิตของเด็ก
พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการได้รับการส่งเสริมให้เป็นพืชเสริมสำหรับการขาดธาตุอาหารเพื่อใช้ร่วมกับวิธีการอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว
ดาวน์โหลดและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของความเชื่อต่าง ๆ ในหนังสือที่มีชื่อว่าISAAA Myths & Facts about Agricultural Biotechnology จากลิงค์ต่อไปนี้ http://www.isaaa.org/blog/entry/default.asp?BlogDate=8/12/2020