นักวิจัยในสเปนใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อผลิตวัคซีน SARS-CoV-2 ในพืช

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

        María Coca และ Juan JoséLópez-Moya นักวิจัยจากสภาวิจัยสเปน (Spanish Research Council -CSIC) ที่ศูนย์วิจัยจีโนมเกษตร (Centre for Research in Agricultural Genomics – CRAG) กำลังใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีชีวภาพด้านพืชและไวรัสวิทยา ในการผลิตสารแอนติเจนของ SARS-CoV-2 เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีน โดยนักวิจัยจะทำการทดลองกับระบบการแสดงออกที่แตกต่างกันของพืช และได้จัดตั้งทีมที่รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนา ( coronavirus)

      ในปี 2562 María Coca ได้ประสบความสำเร็จในการดัดแปลงพันธุกรรมไวรัสพืช เพื่อผลิตโปรตีนต้านเชื้อราภายในใบพืช ซึ่งกลยุทธ์เดียวกันนี้ สามารถใช้ในการผลิตแอนติเจน SARS-CoV-2 และไม่เพียงแต่ผลิตในพืชตระกูลยาสูบ (Nicotiana benthamiana) แต่ยังผลิตได้ในผักกาดหอม (lettuce) อ้างอิงจาก María Coca การผลิตแอนติเจนในผักกาดหอม สามารถทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะทดสอบการสร้างภูมิคุ้มกันผ่านทางช่องปาก (oral immunization) ได้

      María Coca อธิบายว่า “ระบบการผลิตที่เราเสนอจะเอาชนะปัญหาบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตวัคซีนอื่น ๆ เช่นความยากลำบากในการขยายการผลิต หรือความจำเป็นในการแยกแอนติเจนและทำให้บริสุทธิ์ ระบบที่ผลิตด้วยพืชยังปราศจากเชื้อโรคอื่น ๆ ที่เกิดกับมนุษย์ และ การผลิตมีความปลอดภัยในต้นทุนต่ำ เมื่อพิจารณาจากเงินทุนและเวลา”

        พืชสามารถเจริญเติบโตได้ง่ายในประเทศกำลังพัฒนา ที่ขาดวิธีการผลิตโปรตีนที่ซับซ้อน ดังนั้นจึงช่วยแก้ปัญหาเมื่อต้องการจะผลิตในปริมาณมากสำหรับวิกฤตการณ์ระดับโลกนี้

         นักวิจัยของ CRAG ยังได้ทำการดัดแปลงเทคโนโลยีที่ใช้กับพืช เพื่อให้สามารถปรับให้เหมาะกับการผลิตแอนติเจนของ SARS-CoV-2 เช่น การเพาะเลี้ยงยีสต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ให้สามารถผลิตสารประกอบต้านเชื้อราได้สำเร็จ ด้วยวิธีการเหล่านี้แอนติเจนของ SARS-CoV-2 สามารถผลิตได้ในเวลาไม่กี่วันในระดับอุตสาหกรรม

          ครับ ก็ต้องช่วยกันหาหนทางป้องกันและรักษาเพื่อสู้กับโรคร้าย Covid 19 ขอให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว

          อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cragenomica.es/crag-news/covid-19-how-plant-biotechnology-can-help