พื้นฐานเดียวกัน คือ CRISPR เพื่อความยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์  เอี่ยมสุภาษิต

          วันนี้เป็นตอนสุดท้ายของบทความที่เขียนโดย Rebecca Mackelprang ซึ่งเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoctoral scholar) ที่ University of California, Berkeley สหรัฐอเมริกา ในเรื่องเกี่ยวกับ “พื้นฐานเดียวกัน คือ CRISPR” เพื่อความยั่งยืนซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

         ในช่วงหกปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ CRISPR ได้ถูกใช้ในการแก้ไขจีโนม นักวิชาการ สตาร์ทอัพและ บริษัทที่จัดตั้งขึ้น ได้ประกาศพันธุ์พืชใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพจากการใช้เทคโนโลยีนี้ บางพันธุ์มุ่งเน้นไปที่ลักษณะเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค เช่น ข้าวสาลีที่มีกลูเตนต่ำ หรือปราศจากกลูเตน สำหรับผู้ที่เป็นโรค celiac (โรคที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อกลูเตน) ชนิดพันธุ์อื่น ๆ เช่น เห็ดที่ไม่มีสีน้ำตาล ทำให้สามารถลดเศษอาหารเหลือทิ้งได้

          ความแห้งแล้งในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพันธุ์พืชที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ข้าวโพดที่ให้ผลผลิตมากขึ้นภายใต้ความเครียดจากความแห้งแล้ง ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยใช้ CRISPR และก่อนหน้านี้ก็มี มะเขือเทศต้านทานโรคราแป้ง สามารถประหยัดเงินได้หลายพันล้านดอลลาร์จากการเลิกพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา มะเขือเทศที่ออกดอกและติดผลเร็ว ที่สามารถใช้เพาะปลูกได้ในละติจูดตอนเหนือที่มีวันยาวและฤดูการปลูกที่สั้น ซึ่งจะมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

         ในปี 2559 และ 2560 คณะกรรมการมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (U.S. National Organic Standards Board – NOSB) ได้ลงมติให้ไม่รวมพืชที่ได้มาจากการแก้ไขยีน/จีโนม จากการรับรองเกษตรอินทรีย์ นั่นก็หมายความว่าต้องไม่ใช้พืชที่มาจากการแก้ไขยีน/จีโนมในการรับรองเกษตรอินทรีย์

         แต่ในมุมมองของ Rebecca Mackelprang เธอคิดว่าพวกเขาควรพิจารณาใหม่ ด้วยเห็นว่า จากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์บางราย ที่เห็นด้วยกับ Rebecca Mackelprang เช่น Tom Willey ได้กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน CRIPSR อาจเป็นประโยชน์สำหรับกระบวนการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม ที่ใช้เวลาหลายปีโดยทำให้สั้นลง และแม้ว่าในขณะที่ปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์โดยการแก้ไขจีโนม แต่ก็สามารถให้โอกาสเข้าถึงจีโนมของบรรพบุรุษของพืชป่าที่ได้หายไป เพื่อใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง

       Tom Willey ยังกล่าวอีกว่า นักปรับปรุงพันธุ์ได้ประสบความสำเร็จจากการใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม เพื่อใช้ประโยชน์จากพืชป่าดังกล่าวได้สำเร็จ แต่ในแง่ของความเร่งด่วนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เราต้องใช้ CRISPR อย่างชาญฉลาดเพื่อเร่งการทำงานดังกล่าว

        Bill Tracy ผู้ปลูกพันธุ์ข้าวโพดออร์แกนิก และเป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซินแมดิสัน (University of Wisconsin–Madison) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายครั้งจาก CRISPR ที่อาจเกิดขึ้นเองในธรรมชาติ อาจส่งผลดีต่อเกษตรกรทุกคน แต่คณะกรรมการมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ได้ลงมติในประเด็นนี้แล้ว และคงยากที่จะเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีแรงกดดันอย่างมีนัยสำคัญ คำถามคือว่า จะมีแรงกดดันทางสังคมใดที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมติดังกล่าว

         การอภิปรายของผู้คนจากทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ ต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาร่วมกันโดยผู้ทำเกษตรอินทรีย์ และผู้ทำเกษตรปกติ ผู้เชี่ยวชาญในการเกษตรแบบยั่งยืน นักเทคโนโลยีชีวภาพและผู้กำหนดนโยบาย จะมีความก้าวหน้ามากกว่าการแก้ปัญหาโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อุปสรรคในเรื่องนี้อาจดูใหญ่ แต่มันเป็นสิ่งที่เราสร้างกันขึ้นมาเอง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้คนจำนวนมากจะมีความกล้าที่จะนำเรื่องนี้กลับมาพูดคุยกันต่อไป

        ครับ บทสรุปในเรื่องนี้ พอชี้ให้เห็นว่า CRISPR สามารถสร้างความยั่งยืนทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการทำการเกษตรแบบปกติ หรือการทำเกษตรอินทรีย์ แต่การปฏิเสธของคณะกรรมการมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้เกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์บางรายไม่เห็นด้วย ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อการยอมรับสำหรับการรับรองเกษตรอินทรีย์

         อ่านบทความทั้งหมดของ Rebecca Mackelprang ได้จาก https://theconversation.com/organic-farming-with-gene-editing-an-oxymoron-or-a-tool-for-sustainable-agriculture-101585