เผย “มนัญญา” สุดปลื้มผลงานวิจัยกรมวิชาการเกษตรคว้ารางวัลเลิศรัฐ ประเภท นวัตกรรมการบริการ

  •  
  •  
  •  
  •  
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผย “มนัญญา” ปลื้มผลงานวิจัยกรมวิชาการเกษตรคว้ารางวัลเลิศรัฐ ประเภท ประเภทนวัตกรรมการบริการ ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพ การให้บริการเพื่อประชาชนได้สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส  เป็นธรรม และเป็นที่พึงพอใจของเกษตรกร ที่ยืดหยุ่น คล่องตัว ทันสมัย และร่วมมือร่วมใจ

       มนัญญา ปลื้ม ผลงานวิจัยกรมวิชาการเกษตร  คว้า รางวัลเลิศรัฐ ปี 65 อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเข้ารับรางวัลจากผลงานวิจัย“นวัตกรรมเครื่องพ่นสารป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดแบบใช้แรงลม” ประเภทนวัตกรรมการบริการจาก ก.พ.ร.  รองนายกวิษณุชู รางวัลเลิศรัฐ “ยืดหยุ่น คล่องตัว ทันสมัย และร่วมมือร่วมใจ”

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ได้รายงานให้นางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทราบว่า ในปี 2565 นี้ผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ  จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้หน่วยงานของรัฐที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และ เป็นธรรม และเป็นที่พึงพอใจ

       ทั้งนี้นางสาวมนัญญา ได้แสดงความปลื้มใจที่ผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรได้รับรางวัลในครั้งนี้และเป็นผลงานที่เป็นไปตามนโยบายที่ต้องการให้กรมวิชาการเกษตรนำผลงานวิจัยไปแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรได้ทันทีและมีประสิทธิภาพ   ซึ่งในปีนี้นายวิษณุ  เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2565 ได้กล่าวว่ารางวัลเลิศรัฐเป็นรางวัลที่ยึดหยุ่น  คล่องตัว   ทันสมัย และร่วมมือร่วมใจ

ผลงานที่ได้รับรางวัลของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่เรื่อง “นวัตกรรมเครื่องพ่นสารป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดแบบใช้แรงลม” ผลงานวิจัยของนายยุทธนา  เครือหาญชาญพงค์  วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ  สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม  ซึ่งการพ่นสารแบบเดิมด้วยเครื่องพ่นแบบสะพายหลังแบบใช้แรงงานคนเดินพ่น เป็นการพ่นที่มีประสิทธิภาพต่ำ ความสามารถในการพ่นเพียง 1 ไร่ต่อชั่วโมง ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้ทันท่วงที  

       สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมจึงได้ทำการออกแบบและพัฒนาเครื่องพ่นแบบใช้แรงลมช่วย   ซึ่งช่วยกระจายละอองฝอยของสารที่ออกจากหัวฉีดไปโดนตัวหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดที่หลบซ่อนอยู่ในกรวยใบ  หรือใต้ใบได้โดยตรง โดยอาศัยหลักการของลมที่ช่วยให้เกิดการพลิกของใบข้าวโพดทำให้สารออกฤทธิ์ทั้งสารเคมีและชีวภัณฑ์  สามารถแทรกซอนบริเวณใต้ใบพืชและในกรวยข้าวโพดได้โดยง่าย  

      สำหรับการใช้แรงลมช่วยนี้ไม่มีในเครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดที่เกษตรกรใช้ในปัจจุบัน  จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นเครื่องแรกที่ผลิตในประเทศไทย โดยเครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดชนิดใช้แรงลมช่วยสามารถพ่นได้รวดเร็ว 20 ไร่ / ชั่วโมง และสามารถพ่นได้ตั้งแต่ข้าวโพดอายุ 7 วันจนถึงข้าวโพดติดฝัก

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  นวัตกรรมการบริการใหม่นี้ เป็นการพ่นแบบใช้น้ำน้อย และช่วยให้ละอองสารมีความสม่ำเสมอมากกว่าการพ่นจากคานหัวฉีดแบบน้ำมาก   รวมทั้งอัตราการพ่นที่น้อยกว่าทำให้สามารถปฏิบัติงานพ่นสารได้รวดเร็วกว่า  สามารถลดจำนวนครั้งในการผสมและการเติมสาร เมื่อเทียบในปริมาณน้ำในถังพ่นสารที่เท่ากัน

        เครื่องพ่นสารแบบใช้ลมช่วยสามารถพ่นได้พื้นที่ที่มากกว่าถึง 2 เท่า ช่วยลดการใช้น้ำในการพ่นสารได้มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และลดปริมาณสารเคมีและชีวภัณฑ์ลงได้ 20 เปอร์เซ็นต์   รวมทั้งจากการทำงานที่รวดเร็วยังมีส่วนช่วยในการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากรถแทรกเตอร์ได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

เครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดชนิดใช้แรงลมช่วยเพื่อกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด  เป็นการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างตรงจุดเพราะสามารถพ่นป้องกันกำจัดการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยขณะนี้ได้มีนำเครื่องพ่นสารแบบคานหัวฉีดชนิดใช้แรงลมช่วยนำไปใช้กำจัดศัตรูพืชในนาข้าว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และทานตะวัน   ซึ่งพืชอื่นที่มีการขยายผลสามารถพ่นได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต

        รวมทั้งนวัตกรรมบริการที่ได้รับรางวัลดังกล่าวนี้สามารถพ่นได้ทั้งสารเคมีและสารชีวภัณฑ์ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร  ปัจจุบันมีบริษัทเอกชน 2 บริษัทรับต้นแบบจากกรมวิชาการเกษตร ไปผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์เพื่อกระจายนวัตกรรมบริการใหม่นี้ไปสู่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง