กอนช. ยกระดับติดตามสถานการณ์ 24 ชั่วโมง เกาะติดเส้นทางพายุโซนร้อน “โนอึล” ประเมินปริมาณฝน น้ำท่าเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง 24 จังหวัดเหนือ-อีสาน พร้อมประสาน 4 กระทรวงหลักหนุนช่วยเหลือระดับพื้นที่ ย้ำหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบเขื่อนจัดการน้ำตามแนวเส้นทางพายุให้สอดคล้องกับสถานการณ์
วันที่ 17 กันยายน 2563 นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์พายุระดับ 3 (โซนร้อน) “โนอึล” คาดว่าเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง และเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคอื่น ๆ ตามลำดับ ในวันที่ 18-20 ก.ย.63 นั้น ขณะนี้หน่วยงานเกี่ยวข้องภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ประเมินสถานการณ์และวางมาตรการเชิงป้องกันไว้แล้วทั้งบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่คาดว่าพายุจะเคลื่อนผ่าน ซึ่งนอกจากการป้องกันในเชิงผลกระทบที่อาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังแล้ว ยังมีการวิเคราะห์ ประเมินปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ไม่มีแหล่งน้ำใดที่น่าเป็นห่วงสามารถรองรับปริมาณฝนได้อีกมาก เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้วมีปริมาณน้ำประมาณ 50% จึงเน้นย้ำทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำเพื่อให้ลำน้ำ และระบบชลประทานสามารถรองรับน้ำหลากได้เต็มศักยภาพ ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% จะต้องบริหารจัดการน้ำในอ่างฯให้เหมาะสมกับปริมาณฝนคาดการณ์เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังจากแนวพายุเคลื่อนผ่าน ที่อาจจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักมากกว่า 150 – 250 มิลลิเมตร โดยประเมินร่วมกับความชื้นในดิน ความจุลำน้ำแล้วอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำสงคราม แม่น้ำห้วยหลวง แม่น้ำห้วยโมง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ลำน้ำพุง ลำน้ำเซบก ลำน้ำเซบาย และลำน้ำยัง พบพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันใน 24 จังหวัด 94 อำเภอ 194 ตำบล แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภูอำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี และภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ แพร่ นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก ลำปาง และอุตรดิตถ์
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น กอนช. ได้มีหนังสือด่วนถึง 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติทั้ง 4 ภาคเป็นหน่วยงานกลางในการประสานแจ้งจังหวัดที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ เพื่อเตรียมการความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ล่วงหน้า รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้รับทราบล่วงหน้าด้วย
ขณะเดียวกัน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติจะมีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ณ ห้องปฏิบัติการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติชั้น 4 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถ.วิภาวดีรังสิต เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการรายงานข้อมูลทุก ๆ 3 ชั่วโมงกรณีที่เกิดวิกฤติในพื้นที่ โดยเชื่อมต่อข้อมูลในจังหวัดที่ประสบเหตุอย่างทันท่วงที ซึ่งล่าสุดขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ได้เตรียมความพร้อมรับมือล่วงหน้าแล้ว อาทิ กรมชลประทาน เตรียมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ติดตาม ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยเขื่อน อ่างเก็บน้ำ อาคารชลประทาน ให้พร้อมใช้งาน และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงพร่องน้ำจากเขื่อนชนบท จ.ขอนแก่น เขื่อนมหาสารคาม จ.มหาสารคาม เขื่อนวังยาง จ.กาฬสินธุ์ และเขื่อนร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ควบคู่การเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ไม่ให้กระทบต่อด้านท้ายอ่างฯ รวมถึงสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และกองทัพภาคที่ 2 ได้ร่วมกันหารือในการสนับสนุนการเตรียมการเฝ้าระวังให้ความช่วยเหลือ ป้องกันผลกระทบ โดยตั้งศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือประชาชนล่วงหน้าที่ จ.ร้อยเอ็ด ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานแจ้งจังหวัดและ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงได้บูรณาการหน่วยงาน เครือข่าย จิตอาสา ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมพร้อมทรัพยากรเครื่องจักรเครื่องมือด้านรับมือสาธารณภัย แผนเผชิญเหตุ รวมทั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือประชาชน
อย่างไรก็ตาม โดยในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.63) คณะทำงานด้านอำนวยการน้ำ ซึ่งมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์แนวโน้มพายุอีกครั้ง ซึ่งอาจจะต้องมีการทบทวนมาตรการในการรับมืออย่างใกล้ชิดต่อไป