4 ชาติน้ำโขงถกโรดแมปเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมเขื่อนสานะคาม

  •  
  •  
  •  
  •  

คณะทำงานด้านเทคนิคสมาชิกลุ่มน้ำโขง ถกข้อมูลเขื่อนสาระคาม 4 ประเด็น ก่อนเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ไทยผลักดันเพิ่มสัดส่วนผู้มีส่วนได้เสียกรณีสร้างเขื่อนขึ้นมา  ป้องผลกระทบน้ำโขงรอบด้าน

          ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (JC Chair) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคคณะกรรมการร่วมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามระเบียบปฏิบัติ เรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคามของ สปป.ลาว (Joint Committee Working Group : JCWG) ครั้งที่ 1 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ร่วมกับสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวียดนาม และไทย โดยผู้แทนฝ่ายไทยประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย

                                                                        ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ 

         การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงเกี่ยวกับภาพรวมของโครงการเขื่อนสานะคามใน 4 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1. การพิจารณาร่างรายละเอียดโครงสร้างวิศวกรรมของเขื่อน การออกแบบเขื่อนสานะคาม ข้อมูลทางอุทกวิทยาและตัวอย่างตะกอน และการประเมินผลกระทบจากการสร้างเขื่อน 2.แนวทางการจัดทำร่างรายงานการทบทวนด้านเทคนิคหลังจากฟังข้อคิดเห็นและเสนอจากประเทศสมาชิก

       3. พิจารณาการดำเนินการกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาปรับปรุงกระบวนการให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 4. พิจารณาขั้นตอนกระบวนการ (Roadmap) ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม แนวทางการจัดประชุมผู้มีส่วนได้เสียระดับภูมิภาคครั้งแรก และกรอบเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันด้วย ซึ่งฝ่ายไทยขอให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเพิ่มสัดส่วนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับภูมิภาค เพื่อสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งนี้ สทนช.จะนำเสนอผลการประชุมหารือวันนี้เข้าสู่ประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน พิจารณาในวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคมนี้ด้วย

     “โครงการเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งที่ 6 ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของประเทศสมาชิกแม่น้ำโขง 4 ประเทศ เป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river) ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 684 เมกะวัตต์ ระดับการกักเก็บน้ำ 220 เมตรจากระดับน้ำทะเล จุดสร้างเขื่อนตั้งอยู่ระหว่างแขวง (จังหวัด) ไซยะบุรีและนครหลวงเวียงจันทน์ ที่เมืองสานะคาม ห่างจากชายแดนไทย-ลาว ที่ จ.เลย ราว 2 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้างโครงการ 2,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6.6 หมื่นล้านบาท) คาดการณ์ช่วงเวลาก่อสร้างว่าจะเริ่มในปีนี้ และแล้วเสร็จในปี 2571 หรือ อีก 8 ปีข้างหน้า ผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท ต้าถัง สานะคาม ไฮโดรพาวเวอร์ จำกัด” ดร.สมเกียรติ กล่าว