เกษตรกรกลัวแล้งมากกว่าโควิด“ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต” ลุกขึ้นจัดการตน-รอดพ้นแล้ง มีอาหารมั่นคงบนวิถีแห่งความพอเพียง

  •  
  •  
  •  
  •  

 

   “การน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ จึงได้รู้ซึ้งว่าสิ่งที่พระองค์ท่านตรากตรำพระวรกายมาทั้งชีวิต เพื่อให้พวกเราได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เกิดความยั่งยืน สามารถสำเร็จได้จากการลงมือทำร่วมมือกันเพื่อพึ่งตัวเองให้ได้ โดยเฉพาะเมื่อน้ำคือชีวิต จึงไม่ต้องรอให้คนอื่นทำ ทุกคนจึงควรลุกขึ้นมาเรียนรู้ให้อยู่รอดจากภัยแล้งด้วยตนเอง”

       ขณะที่คนทั่วโลกรวมถึงคนเมืองในประเทศไทยกำลังหวาดวิตก กักตุนอาหาร และเก็บตัวเองอยู่ในบ้าน เพื่อปกป้องตัวเองให้ห่างจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง แต่ภัยร้ายจากโรคระบาดที่ว่ารุนแรงแล้ว ก็ยังไม่อาจสู้ปัญหาเรื่องปากท้องได้ นี่จึงเป็นสาเหตุของการอพยพอีกระลอกของแรงงานกลับสู่ภูมิลำเนาเพื่อหนีความอดอยาก

       ผลการสำรวจความคิดเห็นเกษตรกรของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เกี่ยวกับผลกระทบภัยแล้งกับโควิด-19 พบว่า เกษตรกรร้อยละ 90.4 เกรงกลัวภัยแล้งมากกว่าโควิด-19

“เสียงเกษตรกร” ที่สะท้อนผ่านโพลกลับสวนทางกับกระแสความตื่นตระหนกต่อโรคระบาด

       เพราะความรุนแรงของภัยแล้งใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยมากกว่าพิษโควิด-19 อีกทั้งความเสียหายทางการเกษตรยังเป็นปัญหาลูกโซ่ ที่จะนำไปสู่ปัญหาในวงจรการผลิตของภาคการเกษตรซึ่งเป็นแหล่งอาหาร รายได้ เป็นความมั่นคงในชีวิตสูงสุดของคนไทย ระหว่างที่ภาครัฐกำลังเร่งบริหารจัดการโรคระบาด ขณะเดียวกันเกษตรกรยังต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาภัยแล้งให้ครบวงจร เพื่อปกป้องชีวิตของเกษตรกรและอาหารของคนไทยให้ยั่งยืน

        เมื่อท้องถิ่นมีความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร แรงงานที่หนีภัยโควิด-19 กลับสู่ภูมิลำเนา จะมีทางเลือก มีอาหาร มีอาชีพ มีความอุดมสมบูรณ์ มีความอบอุ่นจากครอบครัว แล้วความสุขตามวิถีชีวิตพอเพียงก็จะเกิดขึ้นกับชุมชน

นี่คือศาสตร์ที่เป็นทางรอดของเกษตรกรไทยที่ช่วยแก้ได้ทั้ง “ปัญหาภัยแล้ง” และ “โควิด-19”

       ดังกรณีศึกษาด้านการจัดการน้ำของ “ชุมนป่าภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น” ซึ่งเป็นชุมชนสู้ภัยแล้งต้นแบบในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” ที่หลังจากได้เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำจากพื้นที่สูง จากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ก็สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ พร้อมกับสามารถฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่ากว่า 2,800 ไร่ จึงทำให้พื้นที่เป็นป่าเขียว พร้อมกับเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงตัวเองในชุมชนได้

        พิชาญ ทิพวงษ์ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต เล่าถึงวิถีชีวิตที่ต้องเติบโตมาในพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดแห่งหนึ่งว่า พื้นที่แห่งนี้มีสภาพฝนดี 2 ปี และแล้ง 4 ปี จึงทำให้ชุมชนต้องเผชิญทั้งภัยแล้งสลับกับน้ำท่วมซ้ำซากวนเวียนมากว่า 40 ปี ซึ่งช่วงที่แล้งที่สุด คนในหมู่บ้านกว่า 300 คน ต้องยืนต่อคิวอาบน้ำในบ่อน้ำบ่อเดียวกัน ส่วนน้ำดื่มต้องตื่นตั้งแต่ตี 2 ตี 3 ไปตักน้ำในบ่อน้ำตื้นใกล้ป่าภูถ้ำ และเมื่อสิ้นฤดูเพาะปลูก ไม่มีน้ำ คนหนุ่มสาวต่างก็อพยพไปรับจ้างขายแรงงานต่างถิ่น บางคนไปเป็นชาวประมงหาปลาในทะเล บางคนทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ โอกาสที่จะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว ก็เฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษา และออกพรรษาเท่านั้น

“เก็บน้ำฝน 2 ปี ให้ข้ามผ่านแล้ง 4 ปี” จุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การจุดประกายให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการน้ำในชุมชน

       “ผมได้มีโอกาสเจอ ดร.รอยล จิตรดอน ที่ปรึกษา สสนก. ท่านตั้งคำถามที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เพราะเมื่อก่อนชาวบ้านเป็นนักร้อง เรียกร้องตรงนั้นตรงนี้ คัดค้านโครงการนั้นโครงการนี้ อาจารย์จึงทิ้งคำถามไว้ว่า หากคิดว่าสิ่งที่มีอยู่ไม่ดีพอ แล้วเราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร จึงทำให้เรากลับมาคิดภายใต้โจทย์ใหญ่ของชุมชน ว่าเราจะหาทางเก็บน้ำ 2 ปีให้ข้ามแล้ง 4 ปีได้อย่างไร” พิชาญ กล่าว

         จากนั้นชุมชนจึงได้เรียนรู้วิธีการสำรวจพื้นที่และพบว่า ฝนตกแต่ไม่มีพื้นที่เก็บน้ำ จึงเข้าสู่การบริหารจัดเก็บน้ำจากที่สูงด้วยการดักน้ำ ต้อนน้ำไปในทิศทางที่ต้องการ ขุดแก้มลิงในพื้นที่เกษตร ให้เป็นแหล่งน้ำประจำไร่นา จากนั้นจึงเริ่มเรียนรู้การจัดรูปที่ดินตามเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้สามารถปลูกพืชได้หลากหลาย

       เขา กล่าวอีกว่า หลังจากมีการจัดรูปที่ดินตามเกษตรทฤษฎีใหม่ มีแหล่งน้ำประจำไร่นา ก็สามารถปลูกพืชหลากหลายมากขึ้นจากเมื่อก่อนปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปัจจุบันปลูกผักหวาน ข่า ตะไคร้ มะนาว ฝรั่ง มะละกอ แตง ฟักทอง พืชผักป่าที่ใช้น้ำน้อยเก็บขายตามฤดูกาล ทำให้เกษตรกรที่อพยพไปทำงานต่างถิ่นได้กลับมาอยู่ในพื้นที่ของตัวอง มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า จากเดิม 30,000 – 50,000 บาท/ปี เป็น 120,000 บาท/ปี และช่วยให้รายจ่ายโดยเฉพาะค่าอาหารลดลงกว่าเดือนละ 3,000 บาท ทำให้อยู่รอดผ่านภัยแล้งได้ในปัจจุบัน”

เพราะลุกขึ้นและร่วมมือกันจัดการน้ำของชุมชนจึงนำไปสู่ความมั่นคงทางน้ำ อาหาร เศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติ

        พิชาญ เล่าถึงผลสำเร็จว่า เมื่อเริ่มต้นจัดการน้ำทำให้ชุมชนมีแหล่งกักเก็บน้ำถึง 1 แสนลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้พอเพียงได้อีก 4-5 ปี โดยไม่เดือดร้อนแม้จะเจอกับภัยแล้ง ชุมชนมีความมั่นคงทางน้ำ อาหาร เศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้คนในท้องถิ่นไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปหางานในเมืองหลวงหรือต่างจังหวัด เกษตรกรใน ต.แวงน้อย หันมาปรับเปลี่ยนทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำให้ 68 ครัวเรือนสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า หรือปีละไม่น้อยกว่า 12 ล้านบาท

      “พี่น้องชุมชนที่ยังไม่รู้จักจัดการตัวเอง อย่ารอคนอื่นมาแก้ไขปัญหา เมื่อน้ำคือชีวิต ทุกคนต้องการน้ำ เราต้องลุกขึ้นมาร่วมมือกันเรียนรู้ เพื่อที่จะรอดแล้งในปี 2563 ด้วยการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม จึงมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง มีรายได้เพิ่มขึ้น คนไม่อพยพแรงงานไปในเมือง ป่าต้นน้ำมีความเขียวชอุ่ม แม้ในฤดูแล้ง” เขา กล่าว

“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” แนวทางที่ช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ พึ่งพาตนเองเป็นแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืน

          “การน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ จึงได้รู้ซึ้งว่าสิ่งที่พระองค์ท่านตรากตรำพระวรกายมาทั้งชีวิต เพื่อให้พวกเราได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เกิดความยั่งยืน สามารถสำเร็จได้จากการลงมือทำร่วมมือกันเพื่อพึ่งตัวเองให้ได้ โดยเฉพาะเมื่อน้ำคือชีวิต จึงไม่ต้องรอให้คนอื่นทำ ทุกคนจึงควรลุกขึ้นมาเรียนรู้ให้อยู่รอดจากภัยแล้งด้วยตนเอง”

           นี่คือหนึ่งตัวอย่างของชุมชนในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” ที่มีภูมิคุ้มกันในยามที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นโรคอุบัติใหม่อย่าง “โควิด-19” หรือ “ภัยแล้ง” เพราะ “ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น” ลุกขึ้นมาสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรด้วยตนเอง มีอาหาร มีอาชีพ มีรายได้ มีความเข้มแข็ง และมีความสุขบนวิถีแห่งความพอเพียง และพร้อมจะเป็น “ผู้ให้” เพื่อช่วยขยายผลความสำเร็จสู่ชุมชนอื่นๆ ในลุ่มน้ำชีต่อไป