อนิสงค์ “ซินลากู” 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาปริมาณน้ำขยับดีขึ้น กอนช.ย้ำยังคุมเข้มแผนจัดการต่อเนื่อง

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                            ดร.สมเกียรติ  ประจำวงษ์

กอนช.ยังเกาะติดแผนจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา แม้ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาปริมาณน้ำในเขื่อนดีขึ้นหลังอิทธิพลพายุ “ซินลากู” ช่วยเพิ่มน้ำ คาดน้ำต้นทุนเพียงพอถึงต้นฤดูแล้งหน้า   แต่ยังต้องเข้มจัดการน้ำตามแผนเคร่งครัด เหตุปริมาณน้ำยังไม่ทิ้งห่างจากปี’62

      ดร.สมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยในโอกาสลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน โดยรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน และการเพาะปลูกพื้นที่ราบภาคกลางสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 12 ว่า จากอิทธิพลของพายุ “ซินลากู” ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ส่งผลสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ฝนตกหนักมาก

     ส่วนในพื้นที่จังหวัดน่าน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก นอกจากนั้น ด้านท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ทำให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำน่านเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 31 ก.ค.- 4 ส.ค 63 ปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยา มีน้ำไหลเข้าแล้วรวม 250 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่ง กอนช.คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าอีก 3 วันข้างหน้า ช่วงวันที่ 5 – 7 ส.ค. 63 จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 337 ล้านลูกบาศก์เมตร

       ล่าสุดปริมาณน้ำใช้การได้ 4 เขื่อน ณ วันที่ 4 ส.ค. 63 มีปริมาณน้ำรวมสิ้น 838 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล 137 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ 531 ล้านลูกบาศก์เมตร  เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 86 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 84 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำ 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที  โดยผลการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2563 ขณะนี้มีการจัดสรรน้ำแล้วจำนวน 2,435 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 75% จากแผน 3,250 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือปริมาณน้ำตามแผนที่ต้องจัดสรรเสริมกับฝน 815 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 25% ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปี 2563 ( ข้อมูล ณ 29 ก.ค.63) เพาะปลูกข้าวไปแล้ว 3.547 ล้านไร่ จากแผน 8.10 ล้านไร่ คิดเป็น 43.80%

           อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำใช้การ 4 เขื่อนหลักเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี’62 พบว่ามีปริมาณน้ำใกล้เคียงกัน ขณะที่การประเมินปริมาณน้ำต้นฤดูแล้งปี 2563/64  ณ 1 พ.ย.63 ปริมาณน้ำใช้การได้ 5,969 ล้าน ลบ.ม. หรือ 33% เมื่อเทียบกับปี 62 ปริมาณน้ำใช้การ 5,376 ล้าน ลบ.ม. หรือ 30% ซึ่งถือว่ายังเป็นปริมาณน้ำน้อย กอนช.จึงได้กำชับหน่วยงานดำเนินการปรับแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด ถึงแม้หลายพื้นที่มีฝนตกมาแล้วสามารถปลูกข้าวนาปีได้ แต่ยังต้องขอความร่วมมือเกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกได้เมื่อมีฝนตกสม่ำเสมอและปริมาณน้ำในพื้นที่เพียงพอแล้ว ซึ่งการบริหารจัดการน้ำจะเป็นการจัดสรรจากอ่างฯ เสริมน้ำท่าและน้ำฝนท้ายอ่างฯให้กับพื้นที่เพาะปลูก

     ทั้งนี้ กอนช.จะมีการประเมินปริมาณน้ำต้นทุนเป็นระยะ ๆ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเน้นการเก็บกักน้ำในอ่างฯ และแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้มากที่สุดไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง รวมถึงการหารือหน่วยเกี่ยวข้องในวันที่ 13 สิงหาคมนี้ เพื่อจัดทำแผนเตรียมการป้องกันบรรเทาผลกระทบอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่คาดว่าจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้

     ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่จากอิทธิพลของพายุซินลากู ส่งผลกระทบในพื้นที่ 13 จังหวัด 45 อำเภอ 109 ตำบล 459 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 2 หมื่นครัวเรือน ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมเครื่องจักรเครื่องมือให้ความช่วยเหลือจนสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันในระยะนี้

 

     ดังนั้นยังต้องเฝ้าระวังน้ำหลากบริเวณพื้นที่ราบเชิงเขาบริเวณภาคเหนือตอนบน บริเวณลำน้ำลาว ลำน้ำกอน จ.เชียงราย แม่น้ำแควน้อย จ.พิษณุโลก รวมถึงเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณลำน้ำลาว     อ.เมือง จ.เชียงราย แม่น้ำน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน และแม่น้ำป่าสัก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้น กอนช.มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เสี่ยงยังคงเฝ้าะวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงให้ตรวจสอบปริมาณน้ำ ความมั่นคงแข็งแรงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กในพื้นที่ประสบภัย เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ และเร่งเก็บกักน้ำควบคู่กันด้วย