เกษตรกรฟ้องศาลปกครอง สู้แบน “พาราควอต” กรมวิชาการเกษตรชี้ใครครอบครองคุก10 ปีปรับเป็นล้าน

  •  
  •  
  •  
  •  

 เครือข่ายเกษตรกรลุกขึ้นสู้อีกยก คราวนี้พึ่งกระบวนการยุติธรรม ตัดสินใจฟ้อง กระทรวงอุตสาหกรรม-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม-คณะกรรมการวัตถุอันตราย และกรมวิชาการเกษตร ต่อศาลปกครองสูงสุดกรณีแบน “พาราควอต –คลอร์ไพริฟอส” พร้อมร้องขอให้ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวให้ใช้สารพาราควอตได้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ขณะที่กรมวิชาการเกษตรเร่งเครื่องทำประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ชี้ให้เห็นว่า ใครมีพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ไว้ในครอบครอง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท

            นายสุกรรณ์ สังขวรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปอลดภัย และนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย กล่าวว่า หลังที่ทราบชัดเจนแล้วว่า นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงนามในคำสั่งกรมวิชาการเกษตรว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายประเภท 4 ที่กรมวิชาการรับผิดชอบ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ซึ่งรวมถึงสารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ที่เพิ่งแบนล่าสุดและจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 นี้นั้น ทางตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มต่างๆในนามสมาพันธ์เกษตรปอลดภัย มีการประชุมหารือถึงแนวทางที่จะต้อต่อสู้เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ที่ประชุมมีมติให้ให้พึ่งกระบวนการยุติธรรม ฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการวัตถุอันตราย และกรมวิชาการเกษตร ต่อศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 เวลา 09.00 น. ฐานะมีส่วนร่วมในการแบนสารเคมีเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส และขอให้ที่ยังมีความจำเป็นต่อภาคการเกษตร และร้องขอให้ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวให้พาราควอตจนกว่าคดีจะสิ้นสุด

            นายสุกรรณ์ กล่าวอีกว่า การแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส มีอะไรที่ไม่ชอบมาพากล เดิมที่ให้มีการแบนสารเคมี 3 ชนิด ประกอบด้วยพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส ตามที่องค์พัฒนาภาคเอกชนหรือเอ็นจีโอ พลักดันขึ้นมา ต่อมาพลิกมติใหม่ให้มีการควบคุมหรือจำกัดในการใช้ มีการใช้งบประมาณแผ่นดินอบรมเกษตรกรในการใช้สารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิดอย่างถูกวิธีทำให้เสียงบประมาณที่เป็นภาษีของคนไทยไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะหลังมีการเลือกตั้งแล้ว และมีรัฐบาลใหม่ ราวกับมีคำสั่งจากนักการเมือง ให้กลับมาพลิกมติอีกราวกับไร้จุดยืน เพราะให้แบนสารทั้ง 3 ชนิดอีก กระทั่งล่าสุดพลิกมาอีกรอบ ให้แบนเฉพาะพาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส ส่วนไกลโฟเซต ให้จำกัดในการใช้ ทั้งที่ความเป็นจริงกรมวิชาการเกษตรเองก็ยอมรับว่า ยังไม่มีสารชนิดใดที่จะทดแทนพาราควอตได้ในตอนนี้ทั้งประสิทธิพล ราคา และความปลอดภัย ฉะนั้นจำเป็นต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรม เพื่อให้พิสูจน์ข้อมูลจริงจากทุกฝ่ายว่าเป็นอย่างไร

            “ผมก็แปลกใจหลังจากที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระ ทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 ซึ่งลงนามโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีเนื้อหาเกี่ยว ข้องกับสารเคมีอันตรายที่ใช้ในภาคการเกษตร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ให้สารเคมีประกอบด้วย คลอร์ไพริฟอส ,คลอร์ไพริฟอส-เมทิล , พาราควอต, พาราควอตไดคลอไรด์ และ พาราควอตเมโทซัลเฟต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง โดยมีผลวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ทางกรมวิชาการเกษตรดูเหมือนว่ากุลีกุจอ เร่งทำการประชาสัมพันธ์ว่า หากใครมีพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ไว้ในครอบครอง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ผิดกฎหมาย มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท ผมถามว่า หลังจากวันที่1 มิถุนายน 2563 ให้เกษตรกรที่มีไว้คืนกับร้านค้า แต่ร้านค้าไม่คืนเงินให้ ที่เกษตรกรเสียเงินไปแล้วใครรับผิดชอบ”นายสุกรรณ์ กล่าว

            สำหรับกรณีที่กรมวิชาการเกษตร เร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบทั่วประเทศแล้วนั้น มีทั้งป้ายโฆษณารถเคลื่อนที่ และการแจ้งผ่านผู้นำชุมชนให้แจ้งเกษตรกรว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ห้ามครองครองวัตถุอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ พาราคาวอต และ คลอร์ไพริฟอส หากพบเบาะแสให้แจ้ง ได้ที่ 1. กรุงเทพมหานคร แจ้งที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรส่วนภูมิภาคแจ้งที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จ.เชียงใหม่,สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จ.พิษณุโลก,สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จ.ขอนแก่น,สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จ.อุบลราชธานี,สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จ.ชัยนาท,สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.จันทบุรี,สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จ.สุราษฎร์ธานี,สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา พร้อมกันนี้ระบุว่า ถ้าใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท