มก. ออกโรง ค้านสุดๆ ระบบทางด่วนขั้นที่ 3

  •  
  •  
  •  
  •  

ม.เกษตรฯประกาศจุดยืนขอสนับสนุน การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี แต่ขอคัดค้าบบทางด่วน โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ยืนยันสนับสนุนโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของรัฐบาล และพร้อมให้ความร่วมมือในทุกด้าน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ  เว้นแต่โครงการใดจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในชาติ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จำเป็นต้องเสนอความเห็นบนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงทางวิชาการ  เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศอย่างแท้จริง

วันที่  21 กุมภาพันธ์ 2561 ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)เปิดแถลงถึงจุดยืน  การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน (โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี)และระบบทางด่วน (โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ)ว่าทาง มก.ประกอบด้วยผู้บริหารและนิสิต ได้ยื่นหนังสือกราบเรียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  รวมถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อยืนยันในการเสนอให้ยกเลิกโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ และเห็นควรให้พิจารณาโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางขนาดเบา โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ทดแทน

ดร.จงรัก กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยมีหนังสือที่ ศธ ๐๕๑๓.๑๐๑๐๑/๙๘๑๒ ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ กราบเรียน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอยืนยันในการเสนอให้ยกเลิกโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ และเห็นควรให้พิจารณาโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางขนาดเบาทดแทน ตามข้อเสนอของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แต่จวบจนปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังไม่ได้รับทราบผลการพิจารณาของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ประกอบกับนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ได้ปรากฏข่าวเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ว่าจะยังคงมีการดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกและด้านตะวันตกเข้าด้วยกัน อีกทั้งจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนสายหลักอีกด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันมาอย่างต่อเนื่อง อันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งของประชาชนในชาติและความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานได้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ได้ศึกษาข้อมูลและข้อเท็จจริง ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าวแล้วเห็นว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างสูงต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและสังคม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และชุมชนต่างๆ ได้มีหนังสือคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว ถึง กทพ. และ กระทรวงคมนาคม รวม 14 ฉบับ พร้อมทั้งเสนอรูปแบบการดำเนินโครงการในรูปแบบอื่น ตลอดจนเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการก่อสร้างด้วย ซึ่งการหาแนวทางแก้ไขปัญหาการก่อสร้างโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีคำสั่งที่ 22/2556 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 แต่งตั้ง คณะกรรมการเพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาการก่อสร้างโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 ที่มีผลกระทบกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ซึ่งมีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นกรรมการ

ผลการประชุมของคณะกรรมการดังกล่าวสรุปว่า เห็นควรยกเลิกโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ พร้อมทั้งเห็นควรให้ดำเนินการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางขนาดเบาทดแทน ตามข้อเสนอของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

ต่อมาในเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้จัดให้มีการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (การสรุปรูปแบบทางเลือกของโครงการ) การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร  ซึ่งปรากฏว่า ในการประชุมสัมมนาดังกล่าว ได้มีการเสนอรูปแบบทางเลือกที่ให้มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน (โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี) และระบบทางด่วน (โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนบน N2 และส่วนต่อขยายกับแนวโครงข่ายทดแทน N1 แนวคลองบางบัวและคลองบางเขน) บนแนวสายทางเดียวกันด้วย

ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขอยืนยันว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สนับสนุนโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของรัฐบาล และพร้อมให้ความร่วมมือในทุกด้าน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ  อย่างไรก็ตาม หากโครงการใดจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในชาติ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จำเป็นต้องเสนอความเห็นบนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงทางวิชาการ เพื่อประกอบการพิจารณาเชิงนโยบายให้เป็นไปด้วยความรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศอย่างแท้จริง

[adrotate banner=”3″]

ดังนั้น ในกรณีดังกล่าวนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เห็นว่าการดำเนินการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางขนาดเบาจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เนื่องจากจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งประชาชน ระหว่างกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกและด้านตะวันตกเข้าด้วยกัน อีกทั้งจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนสายหลักอีกด้วย  แต่การดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๓ สายเหนือ จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างสูงต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและสังคม  จึงควรพิจารณาโครงการก่อสร้างทางพิเศษในแนวสายทางอื่นๆ นอกเขตพื้นที่ชุมชนที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อาทิ แนววงแหวนรอบนอกด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ซึ่งการดำเนินโครงการอาจจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวจะคุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า

“ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่าควรดำเนินการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางขนาดเบา และควรยกเลิกโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ – สายเหนือ ตามข้อเสนอของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่เคยเสนอไว้เมื่อปี พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ยื่นหนังสือกราบเรียน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทั้งบุคลากร นิสิต นักเรียน นิสิตเก่า และชุมชน พร้อมยอมรับในผลการพิจารณาของ คสช. และ รัฐบาล และขอขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงที่จะพิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ”รักษาการแทนอธิการบดีมก. กล่าว