สทนช. ร่วมศึกษาดูงานการจัดการและระบายตะกอนในแม่น้ำโรน ณ สมาพันธรัฐสวิสฯ-ฝรั่งเศส

ช่วงรระหว่างวันที่ 19-23 พฤษภาคม 2568 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ผู้แทนฝ่ายไทย พร้อมด้วย ดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. และนายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ผู้แทนจากประเทศสมาชิกแม่น้ำโขงได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRCS ได้เข้าร่วมการศึกษาและดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่เป็นดีจากการปฏิบัติงานจริงเกี่ยวกับการจัดการและการระบายตะกอน (Sediment Flushing) ในแม่น้ำโรน (Rhone River) ณ สมาพันธรัฐสวิสและสาธารณรัฐฝรั่งเศส
แม่น้ำโรน เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ โดยมีต้นน้ำจากเทือกเขามองค์บลัง สวิตเซอร์แลนด์ ไหลลงสู่ทะเลสาบเจนีวา และมีแม่น้ำสาขาที่สำคัญคือ แม่น้ำอาฟ (Arves) ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโรน ซึ่งได้นำพาปริมาณตะกอนจากต้นน้ำลงมาสู่ท้ายน้ำเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ก่อนที่แม่น้ำโรนจะไหลเข้าสู่เขตประเทศฝรั่งเศส ผ่านเมืองและสถานที่สำคัญต่าง ๆ และไหลลงสู่ทะเลเมอดิเตอเรเนียนต่อไป
คณะผู้แทนฯ ได้ร่วมศึกษาดูงานและสังเกตการณ์การปฏิบัติการระบายตะกอนจริงในภาคสนาม ซึ่งดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานปฏิบัติของทั้งสองประเทศ ได้แก่ Industrial Services of Geneva (SIG) สวิตเซอร์แลนด์ และบริษัทพลังงานแห่งชาติของฝรั่งเศส (Compagnie Nationale du Rhone: CNR) ในช่วงการดำเนินการประจำปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) เป็นระยะเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ถึง 27 พฤษภาคม 2025 ซึ่งดำเนินการระบายตะกอน ทุก 3-4 ปี และที่ผ่านมาทั้งสองประเทศได้ร่วมกันดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ ปี ค.ศ. 2016 และ ค.ศ. 2021 และได้มีการถอดบทเรียนเพื่อนำมาปรับในการปฏิบัติการในครั้งนี้
การศึกษาดูงานในครั้งนี้ ได้เรียนรู้ถึงความพยายามของทั้งสองประเทศในการที่จะใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายสำคัญ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ปกป้องสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านกลไกความร่วมมือที่เข้มแข็ง การสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอและการลงทุนสูงด้านบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศ ทำให้การดำเนินการประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการร่วมมือของทุกภาคส่วนในการให้ความร่วมมือในการงดใช้ทำกิจกรรมสำคัญทางน้ำ ในช่วงปฏิบัติการระบายตะกอนดังกล่าว