ปลัดเกษตรฯ นำทีมลุยซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น หวังขยายส่งออกสินค้าเกษตรไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

ปลัดเกษตรฯ ประสบผลสำเร็จหรือกับซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น เพื่อขยายการส่งออกสินค้าเกษตร เพิ่มโอกาสเกษตรกรไทยเผยบริษัท Beisia จำกัด ต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรไทยมากยิ่งขึ้น ทั้งผลไม้สด  มะม่วง มังคุด ส้มโอ กล้วย มะพร้าว และสับปะรด

วันที่ 4 สิงหาคม 2565 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปหารือร่วมกับนายฮาชิโมโตะ ฮิโรฮิเดะ รองประธานกรรมการบริษัท Beisia จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีก ชั้นนำของญี่ปุ่น (ซุปเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่) ในโอกาสการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขยายการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศญี่ปุ่น ที่จังหวัดกุนมะ ประเทศญี่ปุ่น ดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย

ดร.ทองเปลว กว่าว่า บริษัท Beisia จำกัด มีความประสงค์ที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าผลไม้สด อาทิ มะม่วง มังคุด ส้มโอ กล้วย มะพร้าว และสับปะรด เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในท้องถิ่น โดยบริษัทฯ ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความร่วมมือในการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับบริษัทฯ เพื่อเป็นการสนับสนุนด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ที่ผลิตสินค้าเกษตรที่ได้คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนดการนำเข้าของประเทศญี่ปุ่น ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดญี่ปุ่น ได้แก่ น้ำมะม่วง น้ำมะพร้าวอ่อน และข้าวโพดหวาน นอกจากนี้ สินค้าเกษตรและอาหารไทยที่มีศักยภาพสูง อาทิ สินค้าไก่แปรรูป สินค้าประมงแปรรูป (กุ้ง) จึงนับเป็นโอกาสดีของเกษตรกรไทย

ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัท Beisia มีร้านค้ากว่า 140 สาขา ใน 15 จังหวัด ทั่วภูมิภาคคันโต (ภาคตะวันออก) และจูบุ (ภาคกลาง) นำเข้าสินค้าจากประเทศไทยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ที่ผ่านมามีการร่วมมือกับหน่วยงานทีมประเทศไทย จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการหารือในครั้งนี้จะผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไทยให้ได้มากขึ้น และสร้างความมั่นใจในเรื่องคุณภาพความปลอดภัยของสินค้าเกษตรไทยให้แก่ผู้นำเข้าและผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ประชากรมีรายได้และกำลังซื้อสูง

ดังนั้นจึงขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของประเทศคู่ค้า (ตลาดนำการผลิต) เพื่อสร้างรายได้และความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยทางด้านวิชาการเกษตรและการตลาด รวมถึงการเสนอสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ได้คุณภาพ และสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับบริษัทคู่ค้าในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้สินค้าเกษตรไทยเป็นที่ต้องการและยอมรับของตลาดโลก

ดร.ทองเปลว กล่าวอีกว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 3 ของไทย ในระหว่างปี 2562-2564 มีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 8.67 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลก โดยในปี 2565 การค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย – ญี่ปุ่น มีมูลค่าประมาณ 158,625 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้าจำนวน 134,621 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไก่ อาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าประมง ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และข้าว เป็นต้น