กระทรวงเกษตรฯ เพิ่มมาตรการเข้มป้องสารปนเปื้อนในผลไม้ “นฤมล” ย้ำต้องตรวจทุกตู้ผลไม้ส่งออก 100% รวมถึงการตรวจสารแคดเมียม หนอนทุเรียน และสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไยด้วย เผยหากตรวจพบจะดำเนินการตามบทลงโทษ ตามประกาศกรมวิชาการเกษตรทัน หวังยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยผักผลไม้ไทย เพื่อสร้างความมั่นใจตลาดส่งออก
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบการประชุมทางไกล ZOOM Cloud Meetings โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง และกรุงโตเกียว เข้าร่วมด้วย
ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ตามที่ได้ปรากฏในข่าวสาธารณรัฐประชาชนจีนระงับการนำเข้าทุเรียนของไทย ภายหลังตรวจพบการใช้สาร Basic Yellow 2 ในทุเรียนนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว และเป็นนโยบายที่ตนได้เน้นย้ำความสำคัญในการควบคุมมาตรฐานสินค้าผักและผลไม้ จึงได้ประชุมพิจารณาวาระเร่งด่วนเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้าผักผลไม้ไทย ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเพิ่มมาตรการตรวจเข้มข้น โดยตรวจทุกตู้ที่มีการส่งออก 100% รวมไปถึงการตรวจสารแคดเมียม หนอนทุเรียน และสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไยด้วย หากตรวจพบจะดำเนินการตามบทลงโทษ ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
“กระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปตรวจตามล้งต่าง ๆ แล้ว โดยพื้นที่ภาคใต้ที่ จ.ชุมพร และนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่จะต้องดำเนินการก่อนเนื่องจากผลผลผลิตทุเรียนกำลังจะทยอยออกสู่ตลาด ขณะเดียวกัน ในระหว่างการเตรียมความพร้อม ดิฉันอยากให้ความมั่นใจกับพี่น้องเกษตรกรว่า กระทรวงเกษตรฯ พร้อมวางมาตรการใหม่ภายใน 10 วัน และจะดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับคุณภาพและความเชื่อมั่นในทุเรียนไทย อย่างไรก็ตาม ได้ประสานกับกรมการค้าภายในช่วยดูแลเรื่องราคาทุเรียน ขอความร่วมมือผู้รับซื้อทุเรียน ไม่ให้มีการกดราคา” ศ.ดร.นฤมล กล่าว
รมว.นฤมล กล่าวอีกว่า วันที่ 5 – 7 ก.พ.นี้ ตนจะเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนร่วมกับนายกรัฐมนตรีฯ อย่างเป็นทางการ และจะนำเรื่องดังกล่าวหารือกับทางสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of the. People’s Republic China) GACC ถึงการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นในสินค้าผักผลไม้ของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและส่งออกสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เนื่องจากสินค้าผักผลไม้ของไทยที่ส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2567 (ม.ค. –พ.ย.) ไทยส่งออกผลไม้สด 1.817 ล้านตัน มูลค่า 177,131 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรมวิชาเกษตรได้ออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง มาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ในทุเรียนผลสดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2568 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 10 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ดังนี้ 1) กรณีที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ต้องใช้ทั้งชนิดและปริมาณที่ถูกต้อง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง หรือตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 หรือข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า 2) กรณีตรวจพบโรงคัดบรรจุใช้สารห้ามใช้หรือมีสารห้ามใช้ไว้ในครอบครอง จะถูกระงับการส่งออกและนำไปสู่การยกเลิกหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืชก็ได้ และ 3) กรณีเจ้าหน้าที่สงสัยว่าทุเรียนมีการใช้สารห้ามใช้ ให้มีอำนาจสั่งให้โรงคัดบรรจุนำผลทุเรียนนั้นไปตรวจวิเคราะห์กับห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาออกใบรับรองสุขอนามัยพืช
สำหรับสถิติการส่งออกผลไม้ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ปี 2565 – 2567 พบว่า ปริมาณการส่งออกทุเรียนลดลง ขณะที่ปริมาณการส่งออกลำไยสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา ดังนี้ ปี 2567 ไทยส่งออกผลไม้ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวนรวมทั้งสิ้น 101,884 ตู้/ชิปเม้นท์ ปริมาณรวม 1,824,815 ตัน มูลค่ารวม 134,954 ล้านบาท โดยมีปริมาณการส่งออกลดลงจากปี 2565 และปี 2566 โดยเป็นการส่งออกทุเรียน จำนวน 52,960 ตู้/ชิปเม้นท์ ปริมาณ 824,777 ตัน มูลค่า 88,806 ล้านบาท ในส่วนของการส่งออกลำไย จำนวน 15,102 ตู้/ชิปเม้นท์ ปริมาณ 375,327 ตัน มูลค่า 16,018 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรรายงานอีกด้วยว่า ได้เตรียมยื่นขอเปิดตลาดส่งออกลำไยทุกประเภทจาก ไทย ไปฟิลิปปินส์ เพื่อขยายตลาดเพิ่มขึ้น