“กฤษฎา”ชี้ 3 ปัจจัยทำเกษตรกรไทย 3.9 ล้านคนยากจน

  •  
  •  
  •  
  •  

“กฤษฎา” โชว์วิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ เทคออฟ 2018” ในงานฉลองครบรอบ 15 ปี หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ยอมรับ ปัจจุบันภาคเกษตรกำลังเผชิญปัญหามากมาย ทั้งผลผลิตราคาตกต่ำ ล้นตลาด ทำให้เกษตรมีหนี้สินซ้ำซาก ต้นทุนสูง คุณภาพต่ำ ชี้เกิดจากขาด 3 ปัจจัย “ความรู้-เงินทุน – ไม่มีตลาดรองรับ” ทางทางออกต้องปฏิรูปภาคการเกษตร โดยยึดแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ย้ำในปี 2565 เกษตรกรต้องมีรายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว และปี 2570 เกษตรกร 3.9 ล้านคนต้องไร้ความจนอย่างแท้จริง

              นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสร่วมเสวนาวิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์เทคออฟ2018” ในงานฉลองครบรอบ 15 ปี หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ โดยงานนี้มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ พร้อมด้วย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมเสวนา ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์แอทเซ็ลทรัลเวิลด์ ว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน ศูนย์กลางระบบคมนาคมขนส่ง และมีพื้นฐานแข็งแกร่ง อีกทั้งยังมีเกษตรกรรมเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ซึ่ง 1 ใน 3 ของประชากร หรือ 29.53 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรยากจน 3.9 ล้านคน มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท/คน/ปี

                                                    ภาพนี้จาก: posttoday.com

           นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันภาคเกษตรกำลังเผชิญปัญหา อาทิ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด หนี้สินซ้ำซาก ต้นทุนสูง คุณภาพต่ำ เพราะยังขาดปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน คือ 1) ขาดความรู้ 2) ขาดเงินทุน และ 3) ไม่มีตลาดรองรับ ดังนั้นทางออกของภาคเกษตรไทย คือ การปฏิรูปภาคการเกษตร โดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน     
             “ปัญหาพืชผลที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ ยางพารา ซึ่งประเทศไทยผลิตยางพาราได้ราว 4 ล้านตัน/ปี แต่มีการใช้ยางในประเทศประมาณ 5 แสนตัน อีก 3 ล้านกว่าตันหรือกว่า 80% ส่งออกขายไปยังต่างประเทศ รัฐบาลจึงให้มีการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีบริหารจัดการใหม่ วางแผนการผลิตให้อุปสงค์ อุปทานเกิดความสมดุล และเป็นโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ จากวัตถุดิบที่มีคุณภาพที่เกษตรกรผลิตได้เอง โดยยางพารากว่า 70% ถูกนำไปใช้ผลิตยางรถยนต์ สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่มีการเติบโตมากขึ้น ประชากรมีรายได้สูงขึ้นอีกทั้งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง จีน เติบโตมีการสร้างถนน ใช้รถยนต์เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะมีการใช้ได้ใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นและกลับมามีราคาที่ดีขึ้น” นายกฤษฎา กล่าว

              รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อไปว่า ในการปฏิรูปภาคเกษตรนั้น ต้องบูรณาการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรให้ตรงจุด ซึ่งวันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ประชุมหารือทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” โดยการทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว ภายในปี 2565 และในปี 2570 เกษตรกรที่ยากจน 3.9 ล้านคนต้องหมดไป ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลนี้ ได้สร้างคนรุ่นใหม่มาเป็น Young Smart Farmer ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 7,598 ราย และยังมุ่งเน้นให้เป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร โดยสร้างระบบสหกรณ์การเกษตรที่เข้มแข็ง และวิสาหกิจชุมชนให้เป็นที่พึ่งของเกษตรกร ตลอดจนกำลังจะสร้างระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตร (Big Data on Agriculture) เพื่อการบริหารจัดการด้านการเกษตรที่ถูกต้องแม่นยำ

             นอกจากนี้แล้ว กระทรวงเกษตรฯด้เข้าร่วมประชุมทูตเกษตร 8 ประเทศ 11 แห่งทั่วโลก โดยเน้นย้ำให้ต้องทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ด้านเกษตรในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ทั้งรายงานสถานการณ์และความต้องการสินค้าเกษตรในประเทศนั้น ๆ และให้ข้อมูลข่าวสารด้านเกษตรที่ถูกต้อง พร้อมทั้งต้องหาช่องทางการค้า ตลาดใหม่ เชื่อมตลาดโลก หรือ “ตลาดนำการผลิต” และต้องร่วมมือกับผู้ช่วยทูตพาณิชย์อย่างแข็งขัน มุ่งมั่นหาความต้องการสินค้าเกษตรมา แล้วบอกเกษตรกรว่า ตลาดต้องการสินค้าอะไร โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ต้องเข้าไปควบคุมคุณภาพ และประสานการจำหน่ายร่วมกับกระทรวง

[adrotate banner=”3″]

            ในส่วนของข้าราชการกระทรวงเกษตรนั้น ต้องเป็นนักวางแผน รอบรู้เรื่องเกษตร มีมุมมองกว้างไกล รู้จริง ทำจริง มุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงาน เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ชาติ และส่วนรวม และต้องเป็นโซ่ข้อกลางของภาครัฐกับภาคเอกชน ประชาชน ทำงานต้องยึดหลักประชารัฐ โดยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด คือ 1. ระดับนโยบาย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ 2. ระดับพื้นที่ แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ 1) ฝ่ายอำนวยการ โดยเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และ 2) ฝ่ายปฏิบัติการ โดยมีเกษตรจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำงานร่วมกับเกษตรอำเภอ ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่และขับเคลื่อนนโยบาย
             อย่างไรก็ตาม ยังต้องพัฒนาสถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน ให้มีความรู้ในเรื่อง การบริหาร กิจการค้าขาย ให้ทุน เพิ่มบทบาท คุ้มครองเกษตรกรสมาชิกไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ จำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการอุตสาหกรรม และกระทรวงการพาณิชย์ เพื่อเชื่อมโยงทุกข้อต่อให้เป็นห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง อีกทั้ง หากภาคเกษตรไทยสามารถปรับตัวได้ทัน Take Off Thailand จะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อีกไกล และภาคเกษตรจะเป็นตัวสำคัญขับเคลื่อนประเทศไทย ทั้งหมดนี้ จะเป็นอนาคตของภาคเกษตรไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมแล้วที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน ภายใต้นโยบาย “ต่อ เติม แต่ง” คือ เปิดกว้าง รับฟัง นำสิ่งที่ดีมาปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

ที่มาข้อมูล:ข่าวทำเนียบรัฐบาล