กรมฝนหลวงฯ ลุยฝ่าภัยแล้งช่วยจังหวัดชุมพร ยืนยันจะปฏิบัติงานเคียงเกษตรกรจนกว่าจะพ้นวิกฤตภัยแล้งตั้ง

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมฝนหลวงฯ ตั้งหน่วยเฉพาฯ จังหวัดชุมพรเพื่อปฏิบัติการทำฝนเทียม และให้มีความคล่องตัวในการช่วยเหลือกเกษตรกรหลังฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่า 3 เดือนจนทำให้ทุเรียนยืนต้นตาย ยืนยันพร้อมจะอยู่ปฏิบัติงานเคียงข้างชาวชุมพรจนกว่าจะพ้นวิกฤตภัยแล้ง

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร ประชุมสรุปผลการปฏิบัติการฝนหลวงในภารกิจบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยมีนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายเจริญโชค พรหมชุติมา นายอำเภอปะทิว ผู้บริหารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ณ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดชุมพร อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

นายสุพิษ กล่าวว่า  ได้รับการประสานงานจากจังหวัดชุมพร ว่าเกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของจังหวัดเข้าขั้นวิกฤต หลังฝนทิ้งช่วงนานกว่า 3 เดือน ทำให้อากาศร้อนจัด น้ำในคลองแห้งขอด ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้พืชผลทางการเกษตรเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะทุเรียนที่ขาดน้ำมานาน ทยอยยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ได้ดำเนินการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดชุมพร ขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อปฏิบัติการทำฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งและเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 โดยใช้อากาศยานขนาดกลาง (CASA) จำนวน 2 ลำ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกว่า 32 นาย ในการปฏิบัติการฝนหลวง

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ได้มีการจัดตั้งหน่วยฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และหน่วยฯ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และวางแผนบินทำฝนช่วยเหลือพื้นที่ จ.ชุมพร แต่ด้วยข้อจำกัดของระยะทางบินถึงพื้นที่เป้าหมายที่ค่อนข้างไกล ทำให้ต้องจัดตั้งหน่วยฯ จังหวัดชุมพร ขึ้นเป็นการเฉพาะกิจให้มีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น

ทั้งนี้ในปี 2566 นี้จังหวัดชุมพรอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปรากฎการณ์เอลนิโญ่ ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกปริมาณน้อย พื้นที่การเกษตรของจังหวัดชุมพร ที่มีถึง 2.56 ล้านไร่ เป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด โดยเฉพาะทุเรียนที่ปีนี้คาดว่าผลผลิตจะลดลงประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมี สวนมังคุด สวนมะพร้าว ที่ได้รับผลกระทบรวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา ลุ่มน้ำคลองชุมพร ลุ่มน้ำคลองสวี – คลองตะโก ลุ่มน้ำคลองหลังสวน ลุ่มน้ำคลองละแม และผู้ขอรับบริการฝนหลวงที่มากถึง 70 กว่ารายในจังหวัดชุมพร ต้องได้รับการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาให้เบาบางลง

กระนั้นขอให้มั่นใจในการทำงานของเราและกรมฝนหลวงฯ จะอยู่ปฏิบัติงานเคียงข้างชาวชุมพรจนกว่าจะพ้นวิกฤตภัยแล้ง และจากการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม ถึง 5 มิถุนายน 2566 ปรากฏว่าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดชุมพร ได้ขึ้นปฏิบัติการบิน รวม 7 วัน จำนวน 15 เที่ยวบิน ชั่วโมงบิน 22 ชั่วโมง ซึ่งสามารถทำให้มีปริมาณฝนตกสะสมอยู่ระหว่าง 22 – 45 มิลลิเมตร ในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตามต้องขอรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนช่วยกันบริหารจัดการแหล่งน้ำของตนเอง ให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอไว้ใช้ในยามฉุกเฉินด้วย ทั้งนี้ พี่น้องประชาชน พี่น้องเกษตรกร สามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร แจ้งสถานการณ์ความต้องการน้ำเพื่อขอรับบริการฝนหลวงได้เป็นประจำทุกวันที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภูมิภาค อาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ หน่วยงานอำเภอ-จังหวัด ช่องทางโซเชียลมีเดีย @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-1095100 ต่อ 410