กรมข้าววอนชาวนา ลดเผาตอซัง หันมาทำนาเปียกสลับแห้ง หวังลดฝุ่น PM2.5 พ่วงเสริมรายได้ขายคาร์บอนเครดิต

  •  
  •  
  •  
  •  

ณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์

กรมการข้าว  แนะเกษตรกรชาวนา ช่วยกันลดเผาตอซัง ให้หันมาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง จะช่วยลดก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ แถมยังสามารถสร้างรายได้ทางเลือกด้วยการขายคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย

นายณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่มีอันตรายต่อสุขภาพ คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่มีสาเหตุมาจากควันท่อไอเสียจากรถยนต์ และการเผาไหม้ต่าง ๆ รวมไปถึงการเผาเศษวัชพืชทางการเกษตร ที่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่นิยมเผาตอซังข้าวเพื่อให้เกิดความสะดวกในการไถเตรียมดิน ส่งผลให้โครงสร้างของดินเปลี่ยนแปลง เกิดการสูญเสียของน้ำในดิน เป็นการทำลายจุลินทรีย์และแมลงที่เป็นประโยชน์ในดิน นอกจากนั้นยังส่งผลต่อชั้นบรรยากาศจากการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาฟาง ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก และเกิดปัญหาค่ามลพิษทางอากาศ โดยมีฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการดำเนินชีวิตและมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายจังหวัด

ทั้งนี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ กรมการข้าว เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวโดยคำนึงถึงส่วนรวมเป็นหลัก กรมการข้าวจึงได้มีการส่งเสริมให้พี่น้องชาวนาหันมาช่วยกันลดการเผาตอซังข้าว และเปลี่ยนไปเป็นการไถกลบตอซังข้าวแทน ที่จะช่วยทำให้ดินมีคุณสมบัติทางกายภาพ ทางเคมี และทางชีวภาพดีขึ้น มีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อดิน ทำให้ต้นข้าวเจริญงอกงามให้ผลผลิตดี นอกจากนั้นทางกรมการข้าวยังส่งเสริมการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ที่จะช่วยลดก๊าซมีเทนในดิน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ โดยเป็นการนำเอาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเข้ามาใช้ในการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Levelling) ที่จะช่วยให้การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“การลดการเผาตอซังข้าวและการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ที่นอกจากจะมีส่วนช่วยในการลดก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้แล้วนั้น ชาวนายังสามารถสร้างรายได้ทางเลือกโดยการขายคาร์บอนเครดิต โดยกรมการข้าวได้เริ่มมีการส่งเสริมให้ชาวนาหันมาสนใจในการขายคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยได้เริ่มนำร่องในแปลงในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ได้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไปแล้วกว่า 8,000 บาทต่อปี” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว