กรมประมง ส่งนักวิชาการลงพื้นที่ วิจัยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแมงกะพรุน

  •  
  •  
  •  
  •  

มีศักดิ์ ภักดีคง

กรมประมง ส่งนักวิชาการลงพื้นที่ ร่วมเก็บข้อมูลทำวิจัย การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแมงกะพรุน ให้มีความสอดคล้องกับวิถีการทำการประมง   หลังกระทรวงเกษตรฯไฟเขียว “อวนจับแมงกะพรุน” ออกทำประมงชั่วคราวได้อีก2 ปี

       จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีมติเห็นชอบประกาศ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมง ที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแมงกะพรุน มีความสอดคล้องกับวิถีการทำการประมงในพื้นที่บางแห่งตามความต้องการและข้อเรียกร้องของพี่น้องชาวประมงก่อนหน้านี้

      นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากข้อมูลทางวิชาการเบื้องต้นของกรมประมงพบว่า ปัจจุบันแมงกะพรุนมีการแพร่กระจายชุกชุมในเขตทะเลชายฝั่งบางห้วงเวลา เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแมงกะพรุน มีความสอดคล้องกับวิถีการทำการประมงจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาทางวิชาการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ออกประกาศ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมง ที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และได้ประกาศลงราชกิจจานุกเบกษาไปเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 โดยประกาศฉบับดังกล่าว จะเป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนจับแมงกะพรุนซึ่งจะเก็บรวบรวมข้อมูลพร้อมกันจากทั้ง 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายวิชาการของกรมประมง และจากการทำการประมงของชาวประมง จึงอนุญาตให้ใช้เครื่องมืออวนจับแมงกะพรุน ให้สามารถทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งได้โดยมีผลการบังคับใช้เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

     ทั้งนี้การใช้อวนลากแมงกะพรุนในเขตทะเลชายฝั่งนั้น ชาวประมงยังไม่สามารถทำการประมงได้ในทันที หากจังหวัดใดประสงค์จะออกมาตรการภายใต้ประกาศฉบับนี้ จะต้องดำเนินการเสนอเรื่องดังกล่าวผ่านคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เพื่อพิจารณาพื้นที่และเงื่อนไขอื่น (เช่น ห้วงเวลาในการทำประมง) และออกประกาศคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด

      อนึ่ง การพิจารณารูปแบบของเครื่องมือประมง วิธีการทำการประมง ขนาดของเรือที่ใช้ประกอบการทำการประมง ระยะที่สามารถทำการประมงได้ ต้องเป็นไปตามแนบท้ายของประกาศโดยสาระสำคัญของประกาศฯ ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนลากทุกชนิด ที่ใช้ประกอบเรือประมงทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง ยกเว้นอวนจับแมงกะพรุนที่ใช้ประกอบเรือประมงทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือวิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมง ขนาดของเรือประมงที่ใช้ประกอบการทำการประมง และเงื่อนไขอื่นที่ใช้ทำการประมง โดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ(ก) อวนต้องมีชั้นเดียว โดยมีขนาดช่องตาอวนตลอดทั้งผืนไม่ต่ำกว่า 10 เซนติเมตร คานถ่างมีความยาวไม่เกิน 8 เมตรและต้องมีทุ่นสำหรับพยุงอวน (รูปประกอบเพิ่มเติมท้ายข่าว)

     (ข) ใช้อวนในการทำการประมงได้ไม่เกิน 1 ปาก,(ค) เรือประมงต้องมีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส หรือเป็นเรือประมงที่อธิบดีกรมประมงได้อนุญาตให้ทำการประมงพื้นบ้านตามมาตรา 174 แห่งพระราชกำหนดการประมงพ.ศ. 2558 เท่านั้น ดังนั้นเรือที่มีขนาดมากกว่าสิบตันกรอส หรือเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสแต่ไม่ถึงสิบห้าและอธิบดีกรมประมงไม่ได้อนุญาตให้ทำการประมงพื้นบ้านตามมาตรา 174 แห่งพระราชกำหนดการประมงพ.ศ. 2558 จะต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

      (ง) ให้ทำการประมงได้ตามพื้นที่และเงื่อนไขอื่นที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดประกาศกำหนด,(จ) ปริมาณของแมงกะพรุนที่ได้จากการทำการประมง ต้องมีปริมาณไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบของปริมาณสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงทั้งหมด,(ฉ) ต้องทำการประมงนอกเขตระยะ 1,000 เมตรนับจากขอบน้ำตามแนวชายฝั่งขณะทำการประมงและเมื่อทำการประมงเสร็จแล้วหากถุงอวนยังอยู่ในน้ำให้ทำการมัดปากอวนหรือให้ทำการถอดคานถ่างออกจากอวน ก่อนเข้าระยะ 1,000 เมตร จากขอบน้ำตามแนวชายฝั่ง


        อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า  กรมประมงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทางภาครัฐและพี่น้องชาวประมง เพื่อให้เกิดการยอมรับจากชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เราได้เห็นการมีส่วนร่วมของภาครัฐและพี่น้องชาวประมงได้ร่วมกันเก็บข้อมูลการทำประมงเพื่อศึกษาสร้างผลงานวิจัยร่วมกันให้เกิดผลชัดแจ้งเป็นที่ประจักษ์ อันจะนำมาซึ่งการปรับปรุงมุ่งพัฒนาประกาศฉบับที่มาจากความร่วมมือของผู้ใช้ทรัพยากรโดยตรง มาปรับใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศต่อไป สำหรับพี่น้องชาวประมงต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ โทร 0 2561 0320 ©